ต้นเดือนธันวาคม 2521 กองทัพเวียดนามเริ่มเปิดฉากรุกรานกัมพูชาซึ่งขณะนั้นปกครองโดยรัฐบาลเขมรแดง โดยใช้กองทหารกว่า 150,000 นาย ร่วมกับกองทัพอากาศ ทำให้กองทัพเขมรแดงแตกพ่ายภายในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ กองทัพเขมรแดงถอยร่นจากกรุงพนมเปญมาทางทิศตะวันตก และใช้ชายแดนไทย-กัมพูชาเป็นพื้นที่อพยพและฐานที่มั่นชั่วคราว เช่นเดียวกับกองทัพเวียดนามที่ ส่งกองกำลังมาบริเวณดังกล่าวเช่นกัน กองทัพของทั้ง 2 ประเทศต่างใช้ช่วงเวลานั้นวางทุ่นระเบิดไว้เพื่อป้องกันการโจมตีจากอีกฝ่าย
วันนี้สงครามบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาสิ้นสุดลงแล้ว หลังเวียดนามลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเมื่อปี 2534 กองทัพรวมถึงประชาชนที่อพยพเข้ามาอยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาต่างเดินทางกลับบ้านเกิดของตัวเอง
แม้สงครามสิ้นสุดไปนานกว่า 30 ปี แต่ทุ่นระเบิดที่ถูกฝังไว้ใต้ดินในยุคนั้นยังคงอยู่ ยังสร้างบาดแผล และคร่าชีวิตผู้คนจนถึงทุกวันนี้
นายบุญชัย กาญจนชาติ สูญเสียขาข้างขวาเพราะเหยียบทุ่นระเบิดเมื่อ 20 ปีก่อน
ปี 2544 นายบุญชัย กาญจนชาติ ชาวบ้านโดนเอาว์ ต.รุง อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ เข้าป่าไปเก็บหวายใกล้กับช่องตาเซ็ม บนเทือกเขาพนมดงรัก ชายแดนไทย-กัมพูชา พร้อมกับเพื่อนอีก 2 คน เขาเดินไปเหยียบหินก้อนหนึ่งโดยไม่รู้ว่ามีทุ่นระเบิดซุกอยู่ด้านล่าง แรงกดทำให้ระเบิดทำงานทันที เขาสูญเสียขาข้างขวานับตั้งแต่นั้น
พอเหยียบบนหินแล้วหินขยับมันคงไปโดนระเบิดที่อยู่ข้างล่าง ตอนนั้นนึกว่าไม่รอดแล้ว ขาข้างขวาฉีกเลือดออกเยอะมาก โชคดีที่เพื่อนที่ไปด้วยช่วยกันพาลงมา
นายประดิษฐ์ ดาราศาสตร์ กำนัน ต.รุง อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ
นายประดิษฐ์ ดาราศาสตร์ กำนันตำบลรุง อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ให้ข้อมูลว่าในอดีตเทือกเขาพนมดงรักเป็นสมรภูมิสำคัญในช่วงที่กองทัพเขมรแดงสู้รบกับกองทัพเวียดนาม และยังเป็นเส้นทางอพยพหนีภัยสงครามของประชาชน รวมถึงกองทัพเขมรแดงที่ถอยร่นจากการถูกโจมตี มีจุดยุทธศาสตร์สำคัญ 3 จุดอยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ คือ ช่องพระพะลัย ช่องพลาญหินเจ็ดก้อนและช่องตาเซ็ม ทำให้ 3 จุดนี้มีทุ่นระเบิดหนาแน่น
กำนันตำบลรุง ยังจำอดีตในช่วงที่มีการสู้รบในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
ประมาณปี 2520-30 ทั้ง 3 ช่องนี้มีชาวบ้านจากกัมพูชาอพยพมาอยู่เต็มพื้นที่ไปหมด เพราะพื้นที่นี้เดินทางเข้าออกง่าย อย่างช่องพระพะลัยเป็นทางราบเดินทางง่ายที่สุดทำให้มีคนเข้ามาทางนั้นเยอะที่สุด ส่วนช่องพลาญหินเจ็ดก้อนแม้อยู่บนภูเขา แต่เป็นเส้นทางสัญจรเดิม คนหนีเข้ามาทางนี้มากเช่นกัน พอเข้ามาก็กินนอนใต้ต้นไม้กลางป่า อยู่เป็นครอบครัว
ข้อมูลจากชุดปฏิบัติการที่ 3 ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบเก็บกู้ทุ่นระเบิดบนเทือกเขาพนมดงรัก ในพื้นที่อำเภอกันทรลักษณ์ ให้ข้อมูลว่าพบทุ่นระเบิดที่ช่องพลาญหินเจ็ดก้อนกว่า 196 ทุ่นและกระสุนปืนค. 2 นัด ตัวเลขดังกล่าวทำให้ที่นี่กลายเป็นจุดที่พบทุ่นระเบิดมากที่สุดในพื้นที่เทือกเขาพนมดงรัก
ทุ่นระเบิดบางส่วนที่เก็บกู้ได้จากช่องพลาญหินเจ็ดก้อน เทือกเขาพนมดงรัก
นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ถึง มกราคม 2566 ชุดปฏิบัติการที่ 3 และ 4 ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ เข้าสำรวจและเก็บกู้ทุ่นระเบิดจนแล้วเสร็จทั้งหมด 7 แปลง เนื้อที่รวมกว่า 130,000 ตร.ม. พบทุ่นระเบิดและสรรพาวุธที่ยังไม่ระเบิดทั้งหมด 788 ทุ่น และตัวเลขยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บกู้
แผนที่แสดงจุดที่พบทุ่นระเบิดบริเวณเทือกเขาพนมดงรัก
พื้นที่หนึ่งที่คาดว่าจะพบทุ่นระเบิดจำนวนมาก คือบริเวณช่องพระพะลัยซึ่งเป็นพื้นที่อพยพของกองทัพเขมรแดงในอดีต
การเก็บกู้ระเบิดที่นี่มีความยากลำบากเพราะพื้นที่ทำงานอยู่ในป่าลึกรถยนต์เข้า-ออกไม่ได้ เจ้าหน้าที่ต้องขนอุปกรณ์และชุดเกราะด้วยตัวเอง ประกอบกับการเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติงานต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงทำให้ต้องพักแรมในป่า เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นการลำเลียงผู้บาดเจ็บก็ทำอย่างยากลำบาก เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่เก็บกู้ทุ่นระเบิด 1 นาย เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ที่ช่องพระพะลัย
อีกประเด็นที่ทำให้การค้นหายากลำบากคือวิธีการวางทุ่นระเบิดของกำลังพลต่าง ๆ ที่มักพลิกแพลงให้เหนือความคาดหมาย เช่น การวางซ้อนกันหลาย ๆ ทุ่นเพื่อเพิ่มอานุภาพความรุนแรง เป็นต้น การปฏิบัติงานในแต่ละครั้งจึงต้องใช้ความเชี่ยวชาญและความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
ปฏิบัติการเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดของประเทศไทยเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2542 หลังร่วมลงนามในรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลหรืออนุสัญญาออตตาวา พันธกรณีที่รัฐภาคีต้องปฏิบัติตาม คือ ทำลายทุ่นระเบิดที่เก็บสะสมไว้ในคลังทั้งหมดภายใน 4 ปี รวมถึงต้องเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่ฝังอยู่ในพื้นดินภายใน 10 ปี หลังจากอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้
ที่ผ่านมาประเทศไทยขอขยายเวลาตามอนุสัญญามาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งล่าสุดจะครบกำหนดภายในปี 2566 อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีแผนขอขยายเวลาตามอนุสัญญาไปอีก 3 ปี เป็นสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2569
พล.อ.ศุภธัช นรินทรภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติให้ข้อมูลว่า ปี 2542 ประเทศไทยมีพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดกว่า 900 แห่ง รวมเนื้อที่กว่า 2,556 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันเก็บกู้จนเหลือพื้นที่ปนเปื้อน 29.7 ตารางกิโลเมตร ในจำนวนนี้กว่าครึ่งอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคอีสานตอนล่าง