คลิปนี้ถูกตั้งข้อสงสัยหลายเรื่อง ทั้งเรื่องคนในคลิปว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของไฟเซอร์จริงหรือไม่ และสื่อที่ทำคลิปนี้ก็มีชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ ทำให้สื่อหลักในสหรัฐฯ ไม่ได้นำเสนอข่าวนี้
ในขณะที่สื่อของทางการจีนนำเสนอเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าต้นกำเนิดการระบาดของโควิด-19 อาจจะมาจากสหรัฐฯ
สำนักข่าวอิสระ โปรเจกต์ เวริทาส (Project Veritas) ในสหรัฐฯ เผยแพร่คลิปวิดีโอ ที่ระบุว่าเป็นการแอบถ่ายการสนทนาระหว่างทีมงานกับ จอร์แดน ทริสตัน วอล์คเกอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา ด้านการวางยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอของบริษัทไฟเซอร์ ซึ่งประเด็นหลักในการสนทนาคือเรื่องที่วอลค์เกอร์ ยอมรับว่าบริษัทไฟเซอร์ ได้ทำการทดลองไวรัสโควิด-19 แบบ gain–of–function หมายถึงการเปลี่ยนสภาพของไวรัสเพื่อศึกษาดูว่ามีโอกาสกลายพันธุ์ ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจุดประสงค์หลักคือการค้นพบเชื้อที่เป็นอันตรายและเสี่ยงต่อการระบาด เพื่อหาวิธีป้องกัน อย่างเช่นการพัฒนาวัคซีนขึ้นมาดักไว้ก่อน
แต่ในคลิปนี้ วอล์คเกอร์ระบุว่าไวรัสกลายพันธุ์ที่ไฟเซอร์ทดลองทำ จะสร้างรายได้มหาศาลให้กับบริษัท
คลิปนี้ถูกเผยแพร่เป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ แต่น่าสังเกตว่าสื่อหลักๆ ในสหรัฐฯ แทบไม่มีสื่อไหนรายงานข่าวนี้เลย ในขณะที่สื่อของจีนนำเสนอเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และแสดงความเห็นว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าแท้ที่จริงแล้ว สหรัฐฯ อาจจะเป็นฝ่ายที่จงใจปล่อยไวรัสโควิด-19 ให้ระบาดไปทั่วโลก เพื่อหวังผลกำไรจากการขายวัคซีน
แต่คลิปนี้ถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องความน่าเชื่อถือหลายประเด็น ข้อแรกคือวอล์คเกอร์เป็นพนักงานของบริษัทไฟเซอร์จริงหรือไม่ เพราะไม่มีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ยืนยันได้ว่าชายที่ปรากฎอยู่ในคลิปเป็นวอล์คเกอร์ตัวจริงหรือไม่
ประเด็นต่อมาคือเรื่องความน่าเชื่อถือของ โปรเจกต์ เวริทาส ซึ่งในเว็บไซต์ระบุว่าเป็นสื่ออิสระที่เน้นการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน แต่ โปรเจกต์ เวริทาส ถูกนิยามโดยสื่อที่มีความน่าเชื่อถืออย่าง สถานีโทรทัศน์ PBS ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะของสหรัฐฯ และผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ว่า โปรเจกต์ เวริทาส เป็นสื่อที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเรื่องการโกงเลือกตั้งในสหรัฐฯ และมักตัดแต่งวิดีโอโดยพุ่งเป้าโจมตีพรรคเดโมแครตของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
มีรายงานว่ายูทูบปิดกั้นการเผยแพร่คลิปนี้ เนื่องจากเข้าข่ายว่าขัดต่อนโยบายเรื่องการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโควิด-19
หลังจากคลิปนี้เผยแพร่ได้เพียง 1 วัน บริษัทไฟเซอร์ออกแถลงการณ์ชี้แจง โดยยืนยันว่าไม่มีการสร้างไวรัสกลายพันธุ์ มีเพียงการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนและยาแพกซ์โลวิด ในไวรัสกลายพันธุ์ที่ระบาดอยู่แล้ว พร้อมยืนยันว่ากระบวนการทดสอบทั้งหมดอยู่ภายใต้กฎกติกาของหน่วยงานกำกับดูแลยาทั้งในสหรัฐฯ และระดับโลก และเป็นวิธีการที่ห้องแล็บทั่วโลกใช้อยู่แล้ว
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องการจ่ายเงินซื้อวัคซีนโควิด-19 ขององค์กรภาคเอกชนที่ร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติและโครงการโคแวกซ์เพื่อกระจายวัคซีนให้กับประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนา
ล่าสุด เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานอ้างข้อมูลจากเอกสารลับที่พบว่ามีบริษัทผู้ผลิตวัคซีนบางรายไม่ยอมคืนเงินให้กับองค์กรดังกล่าว หลังจากที่ไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ตามกำหนด แม้ว่าในสัญญาไม่ได้กำหนดว่าจะต้องคืนเงินให้ แต่เนื่องจากเงินที่จ่ายให้บริษัทเหล่านี้ เป็นเงินที่ได้รับบริจาคมาจากองค์กรและประเทศร่ำรวย ที่ต้องการแจกจ่ายวัคซีนให้ประเทศยากจน
บริษัทที่เป็นปัญหาอยู่ในตอนนี้ คือบริษัทในเครือจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่ไม่ยอมให้ยกเลิกคำสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 จำนวน 150 ล้านโดส และยังกำหนดให้องค์กรดังกล่าวจะต้องจ่ายเงินส่วนที่เหลือให้ครบ
อีกบริษัทหนึ่งคือบริษัทโนวาแวกซ์ ที่ไม่ยอมคืนเงิน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเงินเหล่านี้ ถ้าหากได้คืนมาก็สามารถนำไปใช้ในโครงการส่งเสริมการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคอื่นๆ ได้
แต่ก็มีหลายบริษัทที่สามารถเจรจาต่อรองได้ อย่างโมเดิร์นนา ไม่ได้คืนเงินให้ แต่ใช้วิธีเปลี่ยนเงินดังกล่าวเป็นเครดิต 58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ ของบริษัทได้ในภายหลัง
เช่นเดียวกับ ซีรัม อินสทิทิวท์ ออฟ อินเดีย (Serum Institute of India) ที่ยอมให้เปลี่ยนเงินล่วงหน้าเป็นเครดิตเช่นเดียวกันและยอมให้ยกเลิกคำสั่งซื้อวัคซีน 145 ล้านโดสด้วย
ส่วน แอสตร้า เซเนกา ยอมคืนเงินให้ เนื่องจากส่งวัคซีนไม่ทันตามกำหนด
ขณะที่ไฟเซอร์ทำสัญญาซื้อขายกับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยตรง ซึ่งวัคซีนบางส่วน สหรัฐฯ ส่งให้โครงการโคแวกซ์ด้วย ซึ่งไฟเซอร์ยอมให้รัฐบาลสหรัฐฯ เปลี่ยนวัคซีนโควิด-19 จำนวน 400 ล้านโดส เป็นผลิตภัณฑ์ตัวอื่นแทน
แต่ปัญหาเรื่องวัคซีนยังไม่หมดเท่านี้ มีรายงานว่าหลายประเทศมีวัคซีนโควิด-19 ตกค้างอยู่ในคลังเป็นจำนวนมากและใกล้หมดอายุแล้ว หลายประเทศเลยวางแผนที่จะบริจาควัคซีนที่ใกล้หมดอายุให้กับประเทศยากจน รวมถึงโครงการโคแวกซ์ด้วย
ล่าสุดเคนยาได้ประกาศดักทางเอาไว้ก่อนแล้วว่า จะไม่รับบริจาควัคซีนใกล้หมดอายุ เพราะเอามาก็เป็นภาระเปล่าๆ สุดท้ายแล้วถ้าฉีดไม่ทันก็ต้องทำลายทิ้งอยู่ดี
วิเคราะห์โดย เสาวลักษณ์ จักรวิวัฒนากุล