กรณีบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ขออนุญาตกรมประมงนำเข้าปลาเก๋าหยก (Jade perch) ซึ่งล่าสุดพบมีการจำหน่าย และโฆษณาปลาเก๋าหยก เพื่อแปรรูปอาหารในงานเกษตรแฟร์เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา
วันนี้ (6 ก.พ.2566) นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า กรมประมง ไม่ได้มีการอนุญาตให้ CPF นำผลิตภัณฑ์ปลาเก๋าหยกแบบแช่แข็ง หรือแปรรูปมาขายในงานเกษตรแฟร์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่เปิด นอกเหนือข้อตกลงในการวิจัยเฟสนี้ (2565-2567) เพราะยังอยู่ระหว่างทาง เพื่อหาคำตอบว่าปลาเก๋าหยกจากที่อนุญาตให้ 40 คู่จากเฟสแรกเมื่อปี 2561-2564 จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศหากหลุดไปในสิ่งแวดล้อมหรือไม่
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ขณะนี้ปลาหยก ยังไม่เคยทดลองในพื้นที่เลี้ยงจริง ยังเลี้ยงในระบบปิดภายใต้การควบคุมของกรมประมง รู้แค่พฤติกรรมการออกลูกอายุเท่าไหร่ และประชากร การกินอาหารกี่รูปแบบ เป็นการประเมินความเสี่ยงในระบบทดลองเท่านั้น บริษัทรายงานครั้งสุดท้ายเมื่อเดือน ธ.ค.2565 ว่าเพิ่งเพาะชุดลุกพันธุ์ชุดแรก
โดยผู้ประกอบการอ้างว่าเป็นปลาสต็อกแช่แข็งที่หลงเหลือจากการทดลองในเฟสแรกที่มีเงื่อนไขให้ชำแหละปลาแช่แข็งจำหน่ายในช่องทางของบริษัท แต่กลับมาโปรโมทขาย
ไม่อนุญาตให้นำปลาแช่แข็งและแปรรูปมาจำหน่ายที่เกษตรแฟร์ ตั้งแต่แรก เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย ได้สั่งเก็บบูททั้งหมด ห้ามโฆษณาและสั่งให้ปลดทุกเมนูที่จะนำไปขายตรงในภัตตาคาร ร้านอาหารทั้งหมด เพราะถือทำผิดเงื่อนไขชัดเจน
ทำไมถึงอนุญาตนำเข้ามาเพาะเลี้ยงย้อนแย้งกม.
อธิบดีกรมประมง ยอมรับว่าปลาหยก เป็นหนึ่งใน 13 ชนิดหรือสัตว์น้ำเอเลียนสปีชีส์ที่มีกฎหมายห้ามนำเข้ามาเพาะเลี้ยงเมื่อปี 2564 เพราะเป็นปลาที่มีความเสี่ยงจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหากหลุดรอดในระบบนิเวศ
แต่เส้นทางของปลาชนิดนี้ ตั้งแต่ปี 2558 ซีพี มีการขออนุญาตนำเข้าปลาหยกเพื่อการวิจัย พบว่าปลาชนิดนี้มีความเสี่ยงกระทบต่อระบบนิเวศปานกลาง สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีค่าความเค็ม 10 PPT กินสัตว์น้ำ พืชแพลงก์ตอนได้ทุกชนิด
จากนั้นในปี 2561-2564 บริษัทซีพี ขอนำเข้าทดลองเลี้ยงผ่านระบบปิด ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด IBC ออกระเบียบท้ายใบอนุญาตว่าการเลี้ยงต้องควบคุมอย่างระมัดระวังห้ามหลุดรอด และหากหลุดรอดโทษความผิดปรับ 2 ล้านบาท และจำคุกไม่เกิน 2 ปี
ต่อมาในปี 2565 กรมประมงให้ทางซีพี สรุปโครงการเฟสแรก การทดลองชำแหละเนื้อปลาทั้งหมดที่เฟสแรกเป็นแบบแช่แข็ง และตอนนี้ 2565-2567 ซีพี ขออนุญาตทดลองเลี้ยงโดยมีพ่อพันธุ์แค่ 40 คู่จากที่อนุญาตในเฟสแรกมาเลี้ยงในระบบปิด ได้ลูกปลาอายุประมาณ 3-6 เดือนราว 10,000 ตัว ภายใต้การควบคุมกรมประมงอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน เพื่อตอบว่ามีศักยภาพในการเพาะเลี้ยง และผลกระทบต่อนิเวศหรือไม่ ในพื้นที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มีเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอไว้
ประเมินแล้วอนุญาตให้ศึกษาประชากรจากพ่อแม่แค่ 40 คู่รวมทั้งการอนุบาล และศึกษารูปแบบ และการตลาดระยะเวลา 3 ปี (2565-2567) ต้องรายงานการเปลี่ยนแปลงลูกปลาทุกเดือน และรายงานผลการศึกษาทุก 3 เดือนให้กับ IBC
ปลาเศรษฐกิจตัวใหม่เพื่อใคร-ความคุ้มทุน สวล.
ส่วนประเด็นที่ว่าปลาหยก พร้อมจะเป็นปลาเศรษฐกิจหรือไม่ นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ต้องถามว่าถ้าเป็นปลาเศรษฐกิจชนิดใหม่ของไทย ต้องประเมินให้รอบคอบคุ้มค่าหรือไม่ ที่จะทำให้มีความเสี่ยงต่อสภาพแวดล้อม และเกษตรกรต้องมีรายได้จากปลาตัวนี้
แต่หากเป็นแค่ของบริษัทต้องดูว่าจะมีระบบควบคุมอย่างไร ยังเร็วไปที่จะไปถึงขั้นนั้น เพราะตอนนี้ยังไม่มีคำตอบเรื่องผลกระทบต่อนิเวศ เรื่องที่เกิดขึ้นจะเรียกซีพีเข้ามาชี้แจงกับบอร์ด IBC ในสัปดาห์นี้
ตอนนี้พักระงับโฆษณาแล้ว เพราะทำผิดเงื่อนไขนอกเหนือการอนุญาต ส่วนใบอนุญาต ไม่จำเป็นต้องรอถึงปี 2567 ถ้าเขาไม่ทำตามเงื่อนไข และฝ่าฝืนสามารถพักใช้ หรือเพิกถอนโครงการวิจัย ถ้ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกินที่จะป้องกัน
ทั้งนี้ยังมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายติดตามตรวจสอบสถานที่เลี้ยงในระบบปิด และมอนิเตอร์ปัญหาการเล็ดรอดของลูกปลาในสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป โดยยืนยันกรมประมงไม่ได้ละเลย ซึ่งในสัปดาห์นี้จะทำให้รู้ว่าสต็อกปลาแช่แข็งที่อ้างว่านำออกมาขายและแปรรูปไปทั้งหมดเท่าไหร่
อ่านข่าวเพิ่ม "ปลาหยก" เอเลียนสปีชีส์ 1 ใน 13 ชนิดที่ถูกห้ามนำเข้าไทย
"กรมประมง" ขู่พักใบอนุญาตปมเอกชนโปรโมตเมนู "ปลาหยก"