ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รายงานพิเศษ : เปิดเส้นทาง “ปลาเก๋าหยก” เอเลี่ยนสปีชีส์ในมือ CPF

สิ่งแวดล้อม
7 ก.พ. 66
13:46
2,419
Logo Thai PBS
รายงานพิเศษ : เปิดเส้นทาง “ปลาเก๋าหยก” เอเลี่ยนสปีชีส์ในมือ CPF
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง จะยืนยันว่า CPF ทำผิดเงื่อนไขการวิจัย โดยเฉพาะการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ปลาเก๋าหยก (Jade Perch) หรือปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ มาขายในงานเกษตรแฟร์ เนื่องจากขณะนี้โครงการดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการทดลองร่วมกับกรมประมง

แต่ก่อนหน้าที่จะมีคำสั่งระงับการโฆษณาและเก็บบูท ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. ทาง CPF ได้นำผลิตภัณฑ์ปลาเก๋าหยกแปรรูปมาวางจำหน่ายในรูปแบบแช่แข็ง และอาหารสด ให้ประชาชน แม้จะมีคำถามว่า เหตุใด CPF จึงกล้าดำเนินการโดยพลการทั้ง ๆ ที่ยังไม่สามารถตอบคำถามเรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมได้

เนื่องจากปลาดังกล่าวถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือ เอเลี่ยนสปีชีส์ เลี้ยงอยู่ในระบบปิด ที่สำคัญยังไม่มีการอนุญาตให้นำไปใช้ในเชิงการค้า โดยกรมประมงเป็นผู้ออกประกาศคุมปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ 13 ชนิดไม่ให้เพาะเลี้ยง ซึ่งจำนวนนี้มีปลาเก๋าหยกรวมอยู่ด้วย

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ชี้ให้เห็นอันตรายของปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ว่า หากหลุดรอดลงในแหล่งน้ำธรรมชาติจะส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่นเดียวกับปลาหมอสีคางดำ

ข้อมูลอีกด้านหนึ่งของกรมประมงระบุว่า ปี 2558 ทางซีพีขออนุญาตนำเข้าปลาเก๋าหยกเพื่อวิจัยและประเมินความเสี่ยงร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา ผลวิจัยพบปลาเก๋าหยก อยู่ในลำดับผลกระทบต่อนิเวศปานกลาง สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีค่าความเค็ม 10 PPT และกรณีที่หลุดรอดออกไปจะกินสัตว์น้ำ พืช แพลงก์ตอนได้ทุกชนิด

การวิจัยยังทำต่อเนื่อง โดยปี 2561-2564 บริษัทซีพีได้ขอนำเข้าทดลองเลี้ยงผ่านระบบปิด ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด IBC ออกระเบียบท้ายใบอนุญาตว่าการเลี้ยงต้องควบคุมอย่างระมัดระวัง

แต่มีเงื่อนไข ห้ามหลุดรอดลงในแหล่งน้ำธรรมชาติและหากหลุดรอดจะมีความผิดตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงฯ 2564 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ยังอยู่ในกระบวนการทดลองร่วมกับกรมประมงตั้งแต่ปี 2565-2567 เราอนุญาตให้มีพ่อแม่พันธุ์แค่ 40 ตัวในระบบปิด ตอนนี้มีลูกปลาในสต็อกแค่ 10,000 ตัว ส่วนผลกระทบต่อนิเวศยังตอบไม่ได้เพราะยังไม่มีผลการศึกษาในไทย

อธิบดีกรมประมงกล่าว

ในส่วนของ ซีพี น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจสัตว์น้ำ CPF ซึ่งออกมาแถลงเปิดตัวเรื่องผลิตภัณฑ์จากปลาเก๋าหยกในงานเกษตรแฟร์ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ว่า เป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ วัตถุดิบพรีเมียมระดับโลก พร้อมส่งจำหน่ายร้านอาหารและภัตตาคารต่างๆ

พร้อมอธิบายขั้นตอนการเลี้ยงว่า ใช้เทคโนโลยีทันสมัยในห่วงโซ่การผลิตปลาเก๋าหยก เป็นปลาที่ CPF นำร่องนำเข้าไข่ปลาจากประเทศออสเตรเลีย มาเพาะเลี้ยงที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เลี้ยงในโรงเรือนระบบปิด มีความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) ตลอดกระบวนการเลี้ยง

ตั้งแต่การคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ปลอดโรค เลี้ยงในบ่อคอนกรีต ปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้การอนุญาตและกำกับดูแลจากกรมประมง

ในขณะที่ข้อความจากแผ่นพับที่แจก มีเพียงคำแนะนำรู้จักกับปลาเก๋าหยก วัตถุพรีเมียม และคุณค่าทาโภชนาการ สำหรับคุณรักสุขภาพว่ามีดีอย่างไร และเมนูรังสรรค์ประเภทใดบ้าง พร้อมทั้งร้านอาหารและภัตตาคารแนะนำ

แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำชี้แจงว่า เหตุใด CPF จึงนำปลาเก๋าหยก หรือปลาเอเลี่ยนซึ่งยังอยู่ระหว่างการทดลองทำวิจัยร่วมกับกรมประมง มาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ใครเป็นผู้อนุญาต และจะรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่าง ไร สังคมยังรอคำตอบ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมประมงชี้ "ปลาเก๋าหยก" ยังไม่ครบขั้นตอนวิจัย-สั่งปลดทุกเมนู

"กรมประมง" ขู่พักใบอนุญาตปมเอกชนโปรโมตเมนู "ปลาหยก"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง