ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิชชันรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนยานอวกาศแทนเชื้อเพลิงเคมีดั้งเดิม

Logo Thai PBS
เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิชชันรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนยานอวกาศแทนเชื้อเพลิงเคมีดั้งเดิม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บริษัท โรลส์ รอยซ์ จับมือกับองค์การอวกาศสหราชอาณาจักร พัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิชชัน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานขับเคลื่อนยานอวกาศในอนาคตแทนที่การใช้เชื้อเพลิงเคมีแบบดั้งเดิม

นับตั้งแต่ที่มนุษย์เริ่มส่งยานอวกาศออกไปนอกโลกเพื่อศึกษาดาวเคราะห์ต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน ระบบการขับเคลื่อนแทบทั้งหมดนั้นมักใช้เชื้อเพลิงเคมีที่เกิดจากการสันดาป ไม่ว่าจะเป็น ไฮโดรเจนเหลว หรือ เคโรซีน (Kerosene) สารสกัดพิเศษจากปิโตรเลียม ซึ่งมีอัตราการกินเชื้อเพลิงที่สูงเมื่อเทียบกับปริมาณ ส่งผลให้ตัวยานอวกาศต้องเดินทางอย่างช้า ๆ เพื่อประหยัดเชื้อเพลิง และจุดชนวนเครื่องยนต์เมื่อจำเป็นต้องเปลี่ยนทิศทางเท่านั้น

เมื่อปี ค.ศ. 2021 องค์การอวกาศสหราชอาณาจักร (United Kingdom Space Agency) จึงได้เข้ามาจับมือกับ "โรลส์ รอยซ์" (Rolls-Royce) บริษัทสัญชาติอังกฤษที่มีประวัติการผลิตเครื่องยนต์เครื่องบินเจ็ท เครื่องยนต์เรือรบ และเครื่องปั่นไฟรูปแบบต่าง ๆ ควบคู่กับการผลิตรถยนต์หรู มาอย่างยาวนาน เพื่อสร้างระบบขับเคลื่อนแบบใหม่สำหรับยานอวกาศด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิชชัน (Nuclear fission) ซึ่งสามารถช่วยให้ตัวยานสามารถเดินทางไปกลับระหว่างดาวต่าง ๆ ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะดวงจันทร์ ที่กำลังเป็นที่หมายปองของชาติมหาอำนาจทั่วโลก ในฐานะแหล่งทรัพยากรแห่งใหม่ของมนุษยชาติที่มีสินแร่หายากมากมายกระจายตัวอยู่ทั่วพื้นผิว และภารกิจสำรวจดาวอังคารที่จะมีมนุษย์เดินทางไปด้วยในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันการส่งหุ่นยนต์สำรวจไปดาวอังคารด้วยเชื้อเพลิงเคมีนั้น ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ถึง 8 เดือน ขณะที่เชื้อเพลิงจากนิวเคลียร์ฟิชชัน อาจทำให้เวลาการเดินทางลดลงถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งช่วยลดผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดขึ้นกับมนุษย์เมื่อเดินทางในอวกาศเป็นระยะเวลานานได้

ก่อนที่ต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 ทางบริษัท โรลส์ รอยซ์ ก็ได้เปิดเผยแบบพิมพ์เขียวเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิชชันขนาดเล็กของตนเป็นครั้งแรก ซึ่งทาง โรลส์ รอยซ์ กล่าวเพิ่มเติมต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิชชัน ที่บริษัทออกแบบมานั้น ยังสามารถนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าในอวกาศแทนที่การใช้แผงโซลาร์เซลล์ได้อีกด้วย เนื่องจากบางพื้นที่ที่มนุษย์ต้องการไปสำรวจในอนาคตนั้นไม่สามารถรับแสงอาทิตย์ได้ตลอดเวลา อย่างเช่น ดวงจันทร์ที่มีช่วงกลางคืนยาวนานติดต่อกัน 14 วัน โดยทาง โรล รอยซ์ คาดว่าเตาปฏิกรณ์ฯ ตัวต้นแบบจะดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 2029

ดังนั้นเราจึงอาจกล่าวได้ว่าการเข้ามาของ โรล รอยซ์ เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ทางฝั่งภาคเอกชนและรัฐบาลกำลังตื่นตัวกับการแข่งขันทางด้านอวกาศครั้งใหม่ ที่เน้นไปที่การสำรวจทรัพยากร และการตั้งถิ่นฐาน มากกว่าที่จะเป็นเพียงแค่การสำรวจแบบในยุคก่อน ๆ อีกต่อไป

ที่มาข้อมูล: SPACE.COM , Reuters
ที่มาภาพ: Rolls-Royce
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง