ห้ามเอาผ้าซิ่นมาทำหมวก จะเอามาใส่ที่หัวไม่ได้
คำขาดจากพ่อถึงลูกสาว "จิตต์ปภัสร์ ปู่เป็ด" หรือ "จ๊ะจ๋า" กะเหรี่ยงโผล่งบ้านหล่ายแก้ว อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่
จ๊ะจ๋า คือคนรุ่นใหม่ที่สานต่อผ้าทอกะเหรี่ยงจากพ่อ ผู้เห็นคุณค่าของผ้าที่บรรพบุรุษถักทอ ส่งต่อรุ่นลูกที่ต่อยอดดีไซน์ให้ทันสมัย
"ทอผ้า" เป็นวิถีคนกะเหรี่ยง ทำเองทุกขั้นตอนตั้งแต่ปลูกฝ้าย อีดฝ้ายเอาเมล็ดออก ตีให้ฟู ปั่นเป็นเส้นด้าย ยอมสีและทอ
เอกลักษณ์ผ้าทอดอยเต่าคือการย้อมสีธรรมชาติ สีเหลืองได้จากใบมะม่วง สีน้ำตาลจากเปลือกไม้ประดู่ สีเทาจากมะเกลือ สีฟ้าจากครามหรือฮ่อม สีชมพูจากรากไม้สล้าง รากไม้ที่เป็นสีเหลือง แต่ย้อมออกมาได้ "สีชมพู" มีเฉพาะที่ดอยเต่าเท่านั้น
ส่วนการทำ "ลายจก" คนทอผ้าบ้านหล่ายแก้วไม่ใช้การปัก แต่ใช้นิ้วจกไปทีละเส้น
พ่อตัวตั้ง ลูกตัวตี ระดมพลทอผ้า
ปี 2537 พ่อของจ๊ะจ๋า จัดการรวมพลคนในหมู่บ้านให้มาทอผ้าด้วยกัน เป็นต้นกำเนิดของกลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงบ้านหล่ายแก้ว เพราะการทอผ้าเป็นวิถีชีวิตของย่ายาย ถ้าไม่ทำ ใครจะรู้จักผ้าทอกะเหรี่ยงหล่ายแก้ว ใครจะรู้ว่าลายจกมาจากดอยเต่า นี่คือสิ่งที่พ่อมองเห็นและลงมือทำ
ของย่าของยาย เราต้องอนุรักษ์ให้อยู่ชั่วลูกชั่วหลาน นี่คือเหตุผลที่จ๋ากลับมาทำ เพราะเห็นพ่อทำตั้งแต่เด็ก ๆ
จ๊ะจ๋า เล่าถึงจุดเริ่มต้น
เมื่อก่อนชาวบ้านช่วยกันทอผ้ากว่าร้อยครัวเรือน หลัง ๆ เหลือคนทอไม่ถึง 30 คน แต่เมื่อจ๊ะจ๋ามาร่วมวง ออกแบบผ้าทอหล่ายแก้วให้ทันสมัย ตั้งขายในตัวเมืองเชียงใหม่ รวมถึงช่องทางออนไลน์
ลูกค้าถูกใจ สั่งออเดอร์เข้ามา จึงทำให้ทุกคนที่เคยทอผ้ากลับมาทั้งหมด เพราะมีรายได้กระจายในหมู่บ้าน
วางขายที่ตลาดจริงใจ เอาเงินกลับบ้านไปให้เขาสัปดาห์ละ 3-4 พันบาท เขาก็มีเงินให้ลูก มันทำให้คนทอมีรายได้
เด็ก ๆ รุ่นใหม่บนดอยเต่าช่วยกันรักษาภูมิปัญญา เขาเห็นแม่ทำ ก็อยากทำเหมือนแม่ ในหมู่บ้านยังมีศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมผ้าทอกะเหรี่ยง ทุกคนมาทำกิจกรรมร่วมกัน ให้ความรู้กับเด็ก ได้ศึกษา สืบสานและสร้างอาชีพด้วยงานถนัด
ต่างที่ความเชื่อ ของอยู่ต่ำไม่ควรไว้ที่สูง
อยากให้ผ้าทอติดตลาด ก็ต้องดีไซน์ให้ทันสมัย เสื้อคอกว้าง แขนกุด สายเดี่ยว ไม่ถูกใจพ่อและคนทอที่บ้านหล่ายแก้ว ยิ่งไปกว่านั้น การนำผ้าซิ่นมาทำเป็นหมวก ตามความเชื่อเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำและทำไม่ได้
ชาวบ้านสมัยก่อนจะถือ แต่เราสมัยใหม่ไม่ค่อยเท่าไหร่ เคยเอาผ้าซิ่นมาทำเป็นหมวก แต่พ่อไม่พอใจจนทะเลาะกัน ห้ามเอาผ้าถุงมาทำแม้เป็นของใหม่
ผ้าซิ่นหรือผ้าถุง เป็นของใช้กับส่วนล่างของร่างกาย เอามาใส่ที่หัวไม่ได้ตามความเชื่อ ทุกวันนี้ "จ๊ะจ๋า" ยอมถอย ไม่เอาผ้าซิ่นมาทำเป็นหมวก แม้แต่ "เสื้อลายกายกอง" ที่ผู้หญิงกะเหรี่ยงโผล่งใช้ในพิธีกรรมแต่งงาน เคยเอามาทำเป็นกางเกงไว้ที่ปลายขา ก็โดนดุว่าทำไม่ได้ เพราะมันเป็นของที่ใส่ข้างบน แต่กลับเอามาไว้ข้างล่าง
ธุรกิจนี้อยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมประเพณี เราต้องคุยกันก่อน ถ้าชิ้นไหนทำไม่ได้ก็ไม่ทำ
ส่วนสายเดี่ยว แขนกุดและเสื้อคอกว้าง แม้ตอนแรกถูกติงว่าโป๊เกินไป แต่เมื่อเอาไปวางขายคนก็สนใจ
ลูกค้าใหม่หาไม่ยาก รักษาลูกค้าเดิมยากกว่า
หาลูกค้าใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะทำอย่างไรที่จะรักษาลูกค้าเก่าไว้ให้นาน
"จ๊ะจ๋า" ตั้งใจให้ผ้าทอกะเหรี่ยงบ้านหล่ายแก้วไปไกลกว่าเดิม ดีกว่าเดิม โดยจะค่อย ๆ ปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนคนทอต้องมีอาชีพและมีรายได้มั่นคง จึงต้องหาทางที่ทำให้ได้ลูกค้าประจำ
ตอนนี้ลูกค้า "ผ้าทอกะเหรี่ยงบ้านหล่ายแก้ว" มีทั้งคนไทยที่แวะเวียนไปซื้อ คนจีนที่ซื้อสินค้าราว 30 ชิ้นต่อสัปดาห์ ส่วนออสเตรเลียสั่งออเดอร์ปลอกหมอนเดือนละครั้ง อเมริกาสั่งปีละครั้ง ซึ่งต้องส่งออกให้เขาทุกปีจำนวน 300-400 ใบ
(ฝากร้าน) ผ้าทอกระเหรี่ยงบ้านหล่ายแก้ว ตั้งร้านขายอยู่ที่ "ตลาดนัดจริงใจ" ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 06.00-14.00 น. และเฟซบุ๊ก Karen Weaving Doi Tao
จุดเชื่อมกลุ่มชาติพันธุ์ สู่เมืองยุคใหม่
"กะเหรี่ยง" เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือและภาคตะวันตก 15 จังหวัด มีภาษา มีเครื่องแต่งกายเป็นเอกลักษณ์ แม้อดีตจะอยู่ในบางท้องถิ่น แต่ปัจจุบันใช้ชีวิตทั้งในท้องถิ่นและในเมือง
"ศิรินภา พลอยกัลยา" หรือ "เบล" หญิงชาวกะเหรี่ยงโผล่งวัย 33 ปี อาศัยอยู่กับคนเมืองและใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ตอนนี้มาช่วยจ๊ะจ๋าขายผ้าทอ พร้อมอาชีพนวดอิสระ
อับอายตัวตน เหมือนเป็นแกะดำ
หญิงคนนี้เคยหันหลังให้กับรากเหง้าของตัวเอง เพราะถูกเพื่อนที่โรงเรียนเหยียดเรื่องชาติพันธุ์ พูดไม่ชัด มีกลิ่นสาบเหม็นเหมือนไม่อาบน้ำ กลายเป็นความอับอายและไม่กล้าบอกใครว่าเป็นกะเหรี่ยง
มันทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ ไม่ได้อยากเกิดมาเป็นกะเหรี่ยงแบบนี้ อยากเป็นเหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ ไม่ใช่แกะดำที่เราโดนเหยียด
เบลบอกกับตัวเองเสมอว่า "ฉันต้องเป็นคนกะเหรี่ยงที่พูดไทยกลางได้ชัดเจน" เพราะเหมือนเป็นการหนีออกมาจากตรงนั้น
แต่สิ่งที่ทำให้เบลหันกลับหาความเป็นกะเหรี่ยง คือคำพูดของครูที่เปลี่ยนทัศนะคติ "เราเป็นคนกะเหรี่ยง ถ้าไม่พูดกะเหรี่ยงแล้วใครจะพูด ถ้าไม่ใส่เสื้อผ้ากะเหรี่ยงแล้วใครจะใส่"
"คนกะเหรี่ยง" กลับมาเรียนรู้ความเป็นกะเหรี่ยง
คำพูดของครูเรียกเรากลับคืนหาชาติพันธุ์ กลับมาเรียนรู้ เป็นคนกะเหรี่ยงที่เรียนรู้ความเป็นกะเหรี่ยงอีกครั้ง
หลังจากนั้นก็ซื้อเสื้อผ้ากะเหรี่ยงมาใส่ เพราะอยากสัมผัสความรู้สึกของคนกะเหรี่ยง ทั้งที่โตมากับการเห็นยายนั่งทอผ้า เป็นความทรงจำที่เห็นมาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยหายไปจากความรู้สึก
วันนี้ไม่มียายแล้ว แต่ยังมีผ้าซิ่นชิ้นเล็กของยายที่แม่ตัดไว้ให้ติดตัว เหมือนเป็นเครื่องรางป้องกันภัย แม้เป็นเพียงความเชื่อ แต่ก็เป็นของคนที่เรารัก
"การกลับมา" ทำให้รู้ว่ามีภาษา วัฒนธรรม ประเพณี เป็นความภูมิใจที่ได้รักษามรดก ทั้งภาษา เสื้อผ้า เครื่องประดับ รอยสัก ดนตรีและอาหาร ส่งต่อลูกหลานให้แตกหน่อต่อไป
ทุกวันนี้ภูมิใจที่เป็นคนกะเหรี่ยง พูดภาษาไทยกลางได้ชัด พูดภาษาอังกฤษ แล้วก็พูดภาษาจีนได้ด้วย
การตามรอย "ผ้าทอ" ไม่เพียงได้เห็นเส้นใยของผืนผ้า แต่เป็นการส่งต่อบางอย่างจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งคนที่ต่อยอดสู่โลกใหม่ และคนที่ได้หวนกลับมา "รู้จักตัวเอง"
อ่านข่าวอื่นๆ
“หนุ่มสาว” ตะลอนเที่ยว สะพายกล้อง-รับจ้างถ่ายรูป
มื้ออาหารแห่งความใส่ใจ ของชาวญี่ปุ่นที่หลงรักเชียงใหม่แม้ไม่เคยรู้จักเลย
เต้าหู้ยี้ปะป๊ากับน้ำเต้าหู้ลูกสาว : ส่งต่อความอร่อยดั้งเดิมบนช่วงเวลาที่ผ่านไป