เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2566 ตำรวจ ปคบ. พร้อมกับเจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหาอ้างตัวเป็นแพทย์ ทำงานคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่ง ย่านศรีนครินทร์ จากเบาะแสะที่ได้จากประชาชน
ขณะเข้าตรวจค้นพบ นายพัสกร อายุ 36 ปี แสดงตัวเป็นแพทย์ ทำการตรวจรักษา โดยเป็นผู้ผสมตัวยา และกำลังฉีดยาเข้าเส้นเลือดให้ผู้ที่เข้ารับบริการด้วยตนเอง เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวจับกุมและได้ตรวจยึด เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์ยาอื่นที่เป็นความผิดกว่า 26 รายการ ส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี
เจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ตรวจสอบใบประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบประกอบกิจการดำเนินสถานพยาบาล พบว่าได้รับอนุญาตถูกต้อง แต่ได้รับรักษาพยาบาลนอกเวลาที่ได้รับอนุญาต และไม่มีแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลป์ให้การรักษา
ตำรวจสอบถามเบื้องต้น นายพัสกร รับว่าตัวเองไม่ใช่แพทย์และไม่มีความรู้เกี่ยวกับการแพทย์แต่อย่างใด เรียนจบนิเทศศาสตร์ แต่เพราะเคยเข้าทำงานในคลินิกเสริมความงามในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล จึงจดจำวิธีการมาแอบอ้างเป็นแพทย์เฉพาะทาง รับฉีดวิตามินผิว, ฟิลเลอร์, โบท็อกซ์ ร้อยไหม นอกสถานที่ ในลักษณะหมอกระเป๋า และรับงานรักษาในคลินิก ทำมาแล้วประมาณ 5 ปี และให้บริการเสริมความงามให้ผู้รับบริการคลินิคดังกล่าวกว่า 120 คน
เบื้องต้นตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา และขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต”
ตรวจสอบแพทย์ก่อนรับบริการ
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่าแม้จะมีการตรวจสอบแล้วว่าสถานพยาบาลที่ตนเลือกรับบริการ เป็นสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เพื่อความปลอดภัยก่อนเข้ารับบริการทุกครั้ง ขอให้ตรวจสอบแบบแสดงรูปถ่ายและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะ (ส.พ.6) ซึ่งแสดงไว้หน้าห้องตรวจว่า ผู้ให้บริการมีชื่อและใบหน้าตรงกับรูปถ่ายที่แสดงหรือไม่
โดยสามารถตรวจสอบว่า ผู้ให้บริการรายดังกล่าวเป็นแพทย์จริงหรือไม่ ผ่านทางเว็บไซต์แพทยสภา (www.tmc.or.th) หากตรวจแล้วไม่พบ หรือใบหน้าไม่ตรงกับที่แสดง ขอให้หลีกเลี่ยงที่จะรับบริการ และให้แจ้งเบาะแสมาที่สายด่วนกรม สบส. 1426 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมาย
สถานพยาบาลมีความผิด หากพบหมอเถื่อน
นอกจากนี้ กรม สบส. เน้นย้ำกับผู้ดำเนินการสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ให้ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน และประวัติผู้ให้บริการอย่างเข้มงวด หากพบว่ามีการปล่อยให้บุคคลที่มิใช่แพทย์มาให้บริการ ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลถือว่ามีความผิด ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐานปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีคำสั่งทางปกครองให้ปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราว หรืออาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตได้
อ่านข่าวอื่น ๆ