การอาศัยอยู่ใกล้กับสนามบินมากเกินไป นอกจากเสียงเครื่องบินขึ้น - ลง ที่จะได้ยินเป็นประจำจนสร้างความรำคาญใจแล้วนั้น ยังเกิดผลเสียต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพอีกมากมาย โดยเสียงจากเครื่องบินสามารถรบกวนการนอนหลับ เพิ่มระดับความเครียด และร้ายแรงกระทั่งทำให้สูญเสียการได้ยิน อีกทั้งมลพิษทางอากาศจากเครื่องบินอาจส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจและระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งระดับของผลกระทบด้านลบเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความใกล้ชิดกับสนามบิน จำนวนเที่ยวบิน และประเภทของเครื่องบิน
งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิโรเบิร์ต วูด จอห์นสัน ร่วมกับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียและมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย พบว่าผู้ที่อาศัยอยู่ภายในระยะ 6 ไมล์หรือประมาณ 9.6 กิโลเมตรจากสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในแคลิฟอร์เนีย 12 แห่ง มีอาการหอบหืดและปัญหาเกี่ยวกับหัวใจในระดับที่สูงขึ้น โดยพบว่ามีการเข้ารับการรักษาเกี่ยวกับปัญหาระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ที่โรงพยาบาลในบริเวณนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยพื้นฐาน 17 เปอร์เซ็นต์ และปัญหาเกี่ยวกับหัวใจก็เพิ่มขึ้นมากขึ้นถึง 9 เปอร์เซ็นต์
หากดูจากข้อมูลจากงานวิจัยอื่น เพื่อสนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้ พบว่าอนุภาคในอากาศขนาดเล็กกว่า 0.01 ไมครอนหรือฝุ่น (UFP) ซึ่งเป็นมลพิษรูปแบบหนึ่งที่ปล่อยออกมาจากเครื่องบิน โดยเฉพาะในบริเวณใกล้เคียงสนามบิน อาจเป็นตัวการสำคัญที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จากการสังเกตอาการของผู้ที่เดินเล่นในสวนสาธารณะใกล้สนามบินลอสแองเจลิส พบว่าการสูดดมฝุ่นเหล่านั้น นำไปสู่การกระตุ้นการอักเสบที่เพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่ในปอดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระบบไหลเวียนเลือด โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคหอบหืดหลังจากสูดดมได้ไม่นาน
นอกจากนี้นักวิจัยที่ศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยในเมืองไมนซ์ ประเทศเยอรมนี ยังยืนยันว่าเสียงที่เกิดจากเครื่องบิน การจราจรบนถนน และทางรถไฟทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียด ซึ่งนำไปสู่การอักเสบของหลอดเลือด ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณบ่งชี้ของโรคหัวใจและหลอดเลือด และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction: MI)
มีการทดสอบโดยให้หนูสัมผัสเสียงเครื่องบินตลอด 24 ชั่วโมงนานถึง 4 วัน ใช้เสียงรบกวนเฉลี่ย 72 เดซิเบล และสูงสุดที่ 85 เดซิเบล การทดสอบแสดงให้เห็นว่าการได้ยินแค่เสียงเพียงอย่างเดียวก็ทำให้เกิดเซลล์อักเสบเกาะติดกับเนื้อเยื่อของหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งนักวิจัยได้กระตุ้นการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในหนูโดยการผูกหลอดเลือดหลักเส้นหนึ่งที่ส่งไปยังหัวใจ หนูที่ได้รับเสียงรบกวนก่อนจะแสดงผลการทำงานของหัวใจที่เสื่อมลงและกล้ามเนื้อหัวใจเสียหายเป็นบริเวณกว้างซึ่งเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ นักวิจัยแนะนำว่าการสัมผัสกับเสียงจากสิ่งแวดล้อมถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นการลดเสียงรบกวนจากสิ่งแวดล้อมอาจช่วยให้ผู้ที่มีอาการหัวใจวายมีอาการที่ดีขึ้นได้
ที่มาข้อมูล: newatlas, eurekalert, kiowacountypress
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech