ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

100 ส.ส.ยื่นศาล รธน.ตีความเลื่อนบังคับใช้พ.ร.ก.อุ้มหาย

การเมือง
28 ก.พ. 66
15:33
660
Logo Thai PBS
100 ส.ส.ยื่นศาล รธน.ตีความเลื่อนบังคับใช้พ.ร.ก.อุ้มหาย
"ชวน" แจ้งที่ประชุม "นิโรธ" พร้อมส.ส.100 คน เข้าชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.ก.อุ้มหายบางมาตรา ด้าน "สมศักดิ์" แจงเหตุเลื่อนบังคับใช้อีก 7 เดือนไม่กระทบบทลงโทษตามกฎหมาย

วันนี้ (28 ก.พ.2566) นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ประธานการประชุม แจ้งต่อที่ประชุมว่ามีนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส. นครสวรรค์และประธานวิปรัฐบาลและคณะ เข้าชื่อยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญว่าการตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ปี 2565 ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคหนึ่ง ให้ประธานส่งความเห็นไปศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน

และให้รอการพิจารณา ไว้ก่อนตามมาตรา 173 ที่กำหนดว่าเมื่อ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั่งหมด ได้เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธาน ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยกฏหมายของ พ.ร.ก. ประธานต้องส่งไปยังศาลภายใน 3 วัน

นายชวน กล่าวอีกว่า ได้ตรวจสอบคำร้องแล้วมี ส.ส. 100 คน เข้าชื่อ ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของ สมาชิกทั้งหมด ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด จึงให้รอการพิจารณาพระราชกำหนดนี้ไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับแจ้งผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และขอจบการพิจารณาในวาระนี้ และปิดประชุมพร้อมรับพระราชโองการปิดสมัยประชุมในเวลา 13:41 น.

"สมศักดิ์" แจงเหตุเลื่อนบังคับใช้อีก 7 เดือน 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมได้ผลักดันกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เริ่มตั้งแต่ปี 2550 กระทั่ง 25 ต.ค.2565 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ถูกประกาศใช้เป็นกฎหมาย มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา

ต่อมากระทรวงฯ ได้รับหนังสือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพื่อขอขยายระยะเวลาในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ในหมวด 3 ออกไปก่อน เนื่องจากมีเหตุขัดข้อง 3 ประการ คือ 1. ขาดงบประมาณและอุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน 2. ขาดความพร้อมของบุคลากร และ 3. ขาดความไม่ชัดเจนและมาตรฐานในการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ถือว่าเป็นกรณีฉุกฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องจัดทำ พ.ร.ก. ฉบับนี้ขึ้น ประกอบด้วย 5 มาตรา ได้แก่ มาตรา 1 ชื่อ พ.ร.ก. มาตรา 2 วันใช้บังคับ พ.ร.ก. มาตรา 3 กำหนดให้ขยายเวลาบังคับใช้มาตรา 22-25 ออกไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.2566

และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 มาตรา 4 ให้คณะกรรมการตาม พ.ร.บ. และหน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมตัวเร่งเตรียมความพร้อมให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.2566 และมาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รักษาการตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้

การตรา พ.ร.ก.เป็นการขยายกำหนดระยะเวลาบังคับใช้เป็นการชั่วคราว 7 เดือน เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมความพร้อม ส่วนฐานความผิดและบทลงโทษ ทั้งกรณีการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย และการบังคับบุคคลให้สูญหาย ยังคงอยู่และมีผลบังคับใช้อย่างเต็มที่ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.

หากมีกรณีเจ้าหน้าที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. จะต้องถูกดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นการอนุญาตให้กระทำความผิดหรืองดเว้นโทษ อีกทั้งปัจจุบันพบว่าหน่วยงานต่าง ๆ ได้เร่งเตรียมการและขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอีกด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ชูวิทย์" ประกาศ "ล้มภูมิใจไทย" ด้วยคะแนนเสียง เดินหน้าค้านกัญชาเสรี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง