วันนี้ 28 (ก.พ.2566) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 เพิ่มเติม
สำหรับกรณีพื้นที่ประสบอุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.2565 - 31 ม.ค.2566 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ 15 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ตรัง นครปฐม นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี พัทลุง ยะลา ระนอง สงขลา สตูล สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี และอ่างทอง
โดยต้องไม่เป็นครัวเรือนที่ได้รับความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 ตามมติ ครม. วันที่ 29 พ.ย.2565 จากการสำรวจเบื้องต้น มีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในพื้นที่ กรุงเทพฯ และ 15 จังหวัด จำนวน 237,048 ครัวเรือน วงเงิน 1,190.46 ล้านบาท
แฟ้มภาพ
เช็กหลักเกณฑ์เงินเยียวยา
- 24 ชั่วโมง - 7 วัน จำนวน 193,802 ครัวเรือน อัตราจ่าย 5,000 บาท วงเงิน 969.01 ล้านบาท
- เกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน จำนวน 40,808 ครัวเรือน อัตราจ่าย 5,000 บาท วงเงิน 204.04 ล้านบาท
- เกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน จำนวน 2,265 ครัวเรือน อัตราจ่าย 7,000 บาท วงเงิน 15.86 ล้านบาท
- เกินกว่า 60 วัน จำนวน 173 ครัวเรือน อัตราจ่าย 9,000 บาท วงเงิน 1.56 ล้านบาท
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีเคยมีมติให้ความช่วยเหลือไว้แล้วแต่ยังคงมีประชาชน ที่ได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และการระบายน้ำ ในช่วงฤดูฝน ปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.2565 - 31 ม.ค.2566
เป็นจังหวัดที่เคยได้รับความช่วยเหลือตามมติ ครม. วันที่ 29 พ.ย.2565 แต่คนละพื้นที่จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร อ่างทอง ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ระนอง สตูล สุราษฎร์ธานีและชุมพร
แฟ้มภาพ
และจังหวัดที่ได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติม จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กทม. ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี พัทลุง ยะลา และสงขลา จึงได้อนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยฤดูฝน 2565 เพิ่มเติม เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั่วถึงและเป็นธรรม
โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำรวจ หรือผู้ประสบภัยยื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือภายใน 30 วัน และให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับ ธนาคารออมสิน เร่งรัดการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ด้วย