เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2566 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการประกาศผลการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนเขาร่วมโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565 เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่อง "การขออุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติ" พร้อมชี้แจงรายละเอียดกระบวนการขออุทธรณ์ ดังนี้
ผู้ลงทะเบียนที่ "ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ" สามารถยื่นขออุทธรณ์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-1 พ.ค.2566 โดยสามารถดำเนินการผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่
1. ขออุทธรณ์ด้วยตนเองผ่านทางเว็บไซต์ https://xn--12cm1ane3a8dcb9a6abq9eehm8a4u7e.mof.go.th/ หรือ https://welfare.mof.go.th ได้ตั้งแต่เวลา 6.00 น. ถึงเวลา 23.00 น.ของทุกวัน มีขั้นตอนดังนี้
1.1 ผู้ลงทะเบียนกรอกหมายเลขประจำตัวประชาชน และวันเดือนปีเกิดตามที่ระบุบนบัตรประจำตัวประชาชน ระบบจะแสดงผลการพิจารณาคุณสมบัติ ให้ผู้ลงทะเบียนคลิกปุ่ม “ผลการตรวจสอบ”
1.2 ผู้ลงทะเบียนกรอกวันเดือนปีเกิดตามที่ระบุบนบัตรประจำตัวประชาชน และรหัส Laser ID หลังบัตรประจำตัวประชาชน และคลิกปุ่ม “ยืนยันตัวตน”
1.3 ระบบจะแสดงรายละเอียดข้อมูลผลการพิจารณาคุณสมบัติที่ผู้ลงทะเบียนไม่ผ่านเกณฑ์ หากผู้ลงทะเบียนต้องการขออุทธรณ์ให้ตรวจสอบหมายโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ และคลิกปุ่ม “ยืนยันการอุทธรณ์”
1.4 ระบบขึ้นข้อความ “โปรดยืนยันการขออุทธรณ์” ให้ผู้ลงทะเบียนคลิกปุ่ม “ยืนยันการอุทธรณ์” อีกครั้ง
1.5 เมื่อผู้ลงทะเบียนคลิกปุ่ม “ยืนยันการอุทธรณ์” เรียบร้อยแล้ว ระบบขึ้นข้อความ “สำเร็จ” ให้ผู้ลงทะเบียนคลิกปุ่ม “ตกลง”
1.6 ผู้ลงทะเบียนสามารถเลือกพิมพ์เอกสารการขออุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติ โดยคลิกปุ่ม “พิมพ์เอกสารยืนยันการอุทธรณ์” ยกเว้นกรณีที่ผู้ลงทะเบียนไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเกณฑ์หนี้สิน ผู้ลงทะเบียนจะต้องพิมพ์เอกสารเพื่อใช้ประกอบการขอแก้ไขข้อมูล
2. ขออุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติผ่านหน่วยงานรับลงทะเบียนทั้ง 7 หน่วยงาน ตามวันและเวลาทำการของแต่ละหน่วยงาน ได้แก่
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
- สำนักงานคลังจังหวัดทุกจังหวัด
- ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ
- สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร
- ศาลาว่าการเมืองพัทยา
ทั้งนี้ ให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานรับลงทะเบียนเป็นผู้ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติ ซึ่งผู้ไม่ผ่านเกณฑ์จะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานรับลงทะเบียน ก่อนยื่นอุทธรณ์
พิการ-ป่วยติดเตียง-สูงอายุ มอบอำนาจจัดการแทนได้
สำหรับผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมาตรวจสอบสิทธิ และ/หรืออุทธรณ์สิทธิได้ด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการตรวจสอบสิทธิ และ/หรืออุทธรณ์ได้ โดยต้องเตรียมเอกสาร ดังนี้
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ลงทะเบียน พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง
- หนังสือมอบอำนาจ (สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ https://xn--12cm1ane3a8dcb9a6abq9eehm8a4u7e.mof.go.th/ หรือ https://welfare.mof.go.th)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง
- สำเนาบัตรประจำตัวคนพิการ พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง (ถ้ามี) หรือใบรับรองแพทย์ (ถ้ามี)
โฆษกกระทรวงการคลัง ย้ำว่า เมื่อผู้ลงทะเบียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ยื่นขออุทธรณ์ผ่านเว็บไซต์หรือผ่านหน่วยงานรับลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว หากต้องการขอตรวจสอบและ/หรือขอแก้ไขข้อมูล ขอให้ติดต่อหน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติที่ผู้ลงทะเบียนไม่ผ่านเกณฑ์ฯ ด้วยตนเอง หรือเป็นไปตามเงื่อนไขที่หน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติกำหนด เพื่อขอปรับปรุงหรือแก้ไขข้อมูลในกรณีที่ข้อมูลไม่ถูกต้อง โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 พ.ค.2566
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช็กสถานะ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ผ่านแล้วยืนยันตัวตน-ไม่ผ่านยื่นอุทธรณ์
เคาะงบ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" 9.1 พันล้าน ผู้รับสิทธิ์ 14.59 ล้านคน