วันนี้ (8 มี.ค.2566) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พร้อมด้วย แรงงานหญิงหลายร้อยคน ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ ร่วมเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อไปยื่นข้อเรียกร้องเนื่องในวันสตรีสากล แก่นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล
สำหรับข้อเสนอ 9 ข้อ ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอเดิมที่แรงงานเคยเรียกร้องต่อรัฐบาลให้แก้ไขหลายครั้ง ได้แก่
1.รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับต่างๆ
- ฉบับ 177 ว่าด้วยงานที่รับไปทำที่บ้าน
- ฉบับ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิความเป็นมารดา
- ฉบับ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน
- ฉบับ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการละเมิดในโลกของการทำงาน
2.การกำหนดสิทธิลาคลอด 180 วัน และให้ผู้ชายสามารถลาคลอดดูแลภรรยาได้ 30 วัน
3.รัฐต้องกำหนดมาตรการเพื่อขจัดการละเมิดสิทธิแรงงานทุกรูปแบบ
4.รัฐต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี เดือนละ 3,000 บาท
5.รัฐต้องกำหนดสัดส่วนผู้หญิง ชาย และเพศสภาพ ในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติ ทุกระดับ อย่างน้อย 1 ใน 3 เพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม
6.กำหนดวันที่ 8 มี.ค. ของทุกปี เป็นวันหยุดตามประเพณี
7.การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว
8.ให้ลูกจ้างทำงานที่บ้านเข้าถึงสิทธิประกันสังคม มาตรา 33
9.ขอให้รัฐบาลไทยเจรจากับทางการเมียนมาให้แรงงานสามารถต่อสัญญาในประเทศได้
ขณะที่นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ จากกลุ่มแรงงานสตรี ส่งให้นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไขต่อไป
สำหรับการออกมาเรียกร้องในวันนี้ แรงงานสตรีทุกคนต่างหวังว่ารัฐบาลจะสามารถทำตามข้อเรียกร้องทั้งหมดได้ พร้อมฝากความหวังไปถึงพรรคการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาลสมัยต่อไปด้วย
การถูกกดขี่และถูกเอาเปรียบของแรงงานสตรี ยังเป็นความกังวลใจที่ผู้หญิงทุกคนอยากจะให้มีระเบียบหรือกฎหมายมารองรับช่วยเหลือแรงงานทุกคน ซึ่งข้อเสนอ ทั้ง 9 ข้อ แรงงานสตรีทุกคน มองว่าจะช่วยคุ้มครองและป้องกันการถูกละเมิดสิทธิแก่แรงงานสตรีได้