วันนี้ (8 ม.ค.2566) พล ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้แถลงข่าวผลการปฏิบัติงานตามยุทธการ "ปิด JOB-SHOP ทิพย์" จับกุมขบวนการหลอกขายสินค้าและบริการผ่านโซเชียลมีเดีย
ที่ผ่านมา ตำรวจไซเบอร์ได้รับแจ้งความร้องทุกข์จากผู้เสียหายจำนวนมาก โดยมีประชาชนเข้ามาแจ้งความที่ศูนย์รับเเจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่ 1 มี.ค.2565 - 28 ก.พ.2566 รวม 210,000 เคส เป็นเรื่องการหลอกขายสินค้าออนไลน์มากที่สุด คือ 70,000 เคส ส่วนใหญ่เป็นการหลอกลวงซื้อขายสินค้าและบริการ รวมถึงการร่วมลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านสื่อออนไลน์
กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จึงได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลผู้เสียหาย โดยแบ่งเป็น 14 กลุ่มคดี แยกเป็น 4 ประเภท คือ การหลอกลวงซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภค, การหลอกลวงซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร, การหลอกลวงร่วมลงทุนธุรกิจสกุลเงินดิจิทัลและการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ, การหลอกลวงซื้อขายบัตรกำนัลการบริการการท่องเที่ยวและรับจ้างทวงหนี้ โดยมีประชาชนกว่า 500 คน ตกเป็นผู้เสียหายของกลุ่มมิจฉาชีพ ซึ่งมีผู้ที่ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงินตั้งแต่ 110-1,600,000 บาท มูลค่ารวมกว่า 35 ล้านบาท ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน "ฉ้อโกงประชาขน และโดยทุจริต หรือโดนหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จอันเป็นโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน"
พล.ต.ท.วรวัฒน์ เปิดเผยว่า ชุดสืบสวนเร่งรวบรวมพยานหลักฐานและตรวจสอบเส้นทางทางการเงิน รวมทั้งขอศาลอนุมัติหมายจับกลุ่มผู้กระทำความผิด ได้จำนวน 34 หมายจับ รวมถึงตัวการในขบวนการและบัญชีม้าที่ร่วมกระทำผิด 15 เครือข่าย
ต่อมาระหว่างวันที่ 3-7 มี.ค.2566 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ระดมปิดล้อมตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับตามยุทธการ "ปิด JOB-SHOP ทิพย์" จำนวน 40 จุดทั่วประเทศ จับกุมผู้ต้องหาได้รวม 26 คน ถือว่าจับกุมตัวการได้ 9 เครือข่าย ตลอดจนตรวจยึดของกลางเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำความผิด พร้อมทั้งอายัดเงินในบัญชีธนาคารของผู้กระทำผิดและบัญชีม้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการปฏิบัติการครั้งนี้ถือเป็นการปฏิบัติการครั้งแรกในเรื่องของการจับกุมขบวนการหลอกขายสินค้าออนไลน์
สำหรับผู้ต้องหาที่เหลือ อยู่ระหว่างเร่งรัดติดตามจับกุมตัวเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะยื่นเรื่องต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเสนอให้ศาลมีคำสั่งปิดกั้นเพจ หรือเว็บไซต์ของกลุ่มมิจฉาชีพอีกทางหนึ่งด้วย