ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไทยเฝ้าระวัง "ไข้หวัดนก" ใกล้ชิด แนะวิธีป้องกัน - ลดเสี่ยง

สังคม
9 มี.ค. 66
14:03
383
Logo Thai PBS
ไทยเฝ้าระวัง "ไข้หวัดนก" ใกล้ชิด แนะวิธีป้องกัน - ลดเสี่ยง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สธ.ติดตามสถานการณ์การระบาดของ "โรคไข้หวัดนก" หลังพบผู้เสียชีวิตจากสายพันธุ์ H5N1 ที่กัมพูชาในรอบ 9 ปี ขณะที่ไทยยังไม่พบรายงานโรคทั้งในสัตว์และคน ย้ำหลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย และห้ามนำมารับประทาน

วันนี้ (9 มี.ค.2566) นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคไข้หวัดนกว่า จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขของกัมพูชา ออกมายืนยันพบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกเป็นรายแรกในรอบ 9 ปี ของประเทศกัมพูชานั้น

กรมควบคุมโรค ได้ติดตามสถานการณ์อย่างไกล้ชิด และสั่งการให้ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ยกระดับการตรวจคัดกรองโรคในผู้เดินทาง โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กักกันโรคปศุสัตว์ ที่ด่านกักกันสัตว์ พรมแดนระหว่างประเทศที่พบการระบาดของไข้หวัดนก

โรคไข้หวัดนก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (Influenza A) ที่พบในสัตว์ปีก เชื้อมีหลายสายพันธุ์ และบางสายพันธุ์ติดต่อสู่คนได้ เช่น H5 และ H7 สามารถพบเชื้อได้ในสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีก จากจมูก ปาก ตา และมูลของสัตว์ปีก

อาการที่พบ ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก ปวดเมื่อยตัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจลำบาก และอาจพบอาการท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง หรือชักเกร็งได้ ยังมีอาการอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น เยื่อบุตาขาวอักเสบ อาการทางเดินหายใจส่วนต้นคล้ายไข้หวัดใหญ่ จนถึงปอดอักเสบเสียชีวิต

สถานการณ์ผู้ป่วยไข้หวัดนกในประเทศไทย จากข้อมูลการเฝ้าระวังของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ติดเชื้อรวม 25 คน (รายแรกในปี 2546 และรายสุดท้ายในปี 2549) มีผู้เสียชีวิต 17 คน ในปัจจุบันยังไม่พบรายงานผู้ป่วยจากระบบการเฝ้าระวังฯ

เลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วย-ตาย

นพ.ทวีชัย กล่าวว่า โรคไข้หวัดนกสามารถป้องกันได้โดยการรับประทานเนื้อไก่ และไข่ที่ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ห้ามนำไปรับประทานหรือให้สัตว์อื่นกิน ล้างมือบ่อย ๆ หลังสัมผัสสัตว์ปีกและสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีกด้วยสบู่และน้ำ และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ หากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายจำนวนมาก ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

และต้องไม่นำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายออกมาจำหน่าย และให้ดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด หากมีอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หายใจลำบาก หรือหอบเหนื่อย และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก ให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติสัมผัสสัตว์ปีก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง