ถ้าผมสั่งได้คงจะไปสั่ง แต่ในฐานะ รมว.ทส. มีอำนาจหน้าที่ในจุดหนึ่ง ได้พูดคุยใน ครม.แล้ว สัปดาห์หน้าจะหารือกันประเด็นนี้ ทุกหน่วยงานต้องเข้ามาเข้มงวดในมาตรการมากขึ้น ไม่ใช่นั่งรอให้เกิดเหตุการณ์ก่อน ต้องขอให้ ครม.ทุกคนมีส่วนร่วม
หากถอดใจความสำคัญของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หลังถูกตั้งคำถามถึงความล่าช้าในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ปกคลุมประเทศไทยมานานเกือบหนึ่งเดือนเต็ม
อาจส่งสัญญาณว่าฝุ่นพิษในช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูฝุ่น มีโอกาสทันเห็นการยกระดับจาก “หัวโต๊ะ” เพื่อให้หยิบแผนและมาตรการที่เคยถูกวางไว้ตั้งแต่คราวประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2566 นำมาสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2566 พบว่ามีการเห็นชอบแผนเฉพาะกิจ 7 มาตรการ แก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566
มติ ครม.ดังกล่าว ระบุว่า แผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566 ถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองปี 2565 โดยปรับปรุงและยกระดับความเข้มงวดมาตรการต่าง ๆ เป็น 7 แนวทาง ภายใต้กรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง โดยเฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์
กางแผน 7 ข้อสกัดฝุ่นปี’66 ทำอะไรบ้าง
ตามแผนข้อแรก ระบุว่า เร่งรัดประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่ สร้างความเชื่อมั่นและลดความสับสนของประชาชน และสื่อสารผ่านสื่อใหม่มากขึ้น เช่น TikTok เพื่อเข้าถึงกลุ่มเยาวชน
ข้อที่ 2 ยกระดับมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น เพิ่มความเข้มงวดควบคุมฝุ่นละอองในช่วงวิกฤตในพื้นที่ป่า เตรียมความพร้อมบุคลากร อุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา ควบคุมฝุ่นละอองจากยานพาหนะและภาคอุตสาหกรรม นำน้ำมันกำมะถันต่ำมาจำหน่ายในช่วงวิกฤต เป็นต้น
ภาพ : อุทยานแห่งชาติแม่ปิง
ข้อที่ 3 ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผาและระบบบริการการเผาในที่โล่ง) เช่น จัดเก็บเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร และส่งเสริมให้เกษตรกรนำตอซัง ฟางข้าวและใบอ้อยไปใช้ประโยชน์หรือเพิ่มมูลค่า เพื่อลดการเผา
ข้อที่ 4 กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับ ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงจัดให้มีแพลตฟอร์มหรือช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล หรือแจ้งเหตุด้านมลพิษ และติดตามการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
ข้อที่ 5 ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ พัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ จัดทำฐานข้อมูลสำหรับการป้องกันและควบคุมการเกิดไฟ
ภาพ : อุทยานแห่งชาติแม่ปิง
ข้อที่ 6 ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจัดทำ Roadmap และกำหนดเป้าหมายลดจำนวนจุดความร้อน/พื้นที่เผาไหม้ในภูมิภาคอาเซียน
และข้อที่ 7 ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผน และดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง
กางมติทั้ง 7 ข้อ หากทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหน่วยงานในระดับท้องถิ่น หยิบไปบังคับใช้ คนไทยคงไม่จมฝุ่นพิษต่อเนื่องมานานนับเดือน ไม่ว่าจะเป็นทางภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร รวมถึงภาคกลางและภาคตะวันตก ที่ต้องแบกรับผลกระทบแบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
ตรงกับคำยืนยันของ “วราวุธ” ที่บอกว่า ทส. ไม่ได้นิ่งเฉยกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพราะมีการจัดทำแผนและแนวทางไว้ตั้งแต่ปลายปี 2565 เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยปฎิบัติดำเนินการตามมาตรการ
“ปัญหาสิ่งแวดล้อมใคร ๆ ก็นึกถึง ทส. เพราะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่ถามว่าต้นกำเนิดฝุ่น ไฟป่า มาจาก ทส.หรือไม่ ก็ไม่ใช่ ดังนั้นทุกคนต้องไปทำหน้าที่ของตัวเอง ได้ยินคำบ่นมาหลายปีแล้ว แต่ปีนี้ขอพูดเพราะมันหนักจริง ๆ” วราวุธ บอกทิ้งท้าย
ข้อมูลล่าสุดจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบจุดความร้อน (Hotspot) สะสมทั้งประเทศ ตั่งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 - 10 มี.ค.2566 รวม 77,992 จุด แบ่งเป็นเขตพื้นที่อนุรักษ์ 28,219 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 20,685 จุด และนอกพื้นที่ป่า 29,088 จุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฟังชัด! "วราวุธ" โต้ใครนิ่งเฉยแก้ฝุ่น PM 2.5
เช็ก 88 อุทยานฯ-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ประกาศปิด-คุมพื้นที่ไฟป่า