วันนี้ (12 มี.ค.2566) บรรยากาศที่สะพานมอญ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ตั้งแต่ช่วงเช้าวันอาทิตย์ นักท่องเที่ยวยังคงทยอยเดินทางเข้าสัมผัสวิถีสองฟากฝั่งของแม่น้ำซองกาเลียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาแต่เช้า ก็คือการใส่บาตรอาหารและใส่ชุดมอญ
ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งมีทั้งที่สวมและไม่สวมหน้ากากอนามัย และบางส่วนเลือกสวมมากกว่านักท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวค่อนข้างมาก จะเป็นช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ขณะที่ร้านค้าขายของที่ระลึกก็เปิดโปรต้อนรับนักท่องเที่ยว
โดยใน อ.สังขละบุรี เมื่อคืนที่ผ่านมา มีฝนตกลงมา สภาพอากาศในช่วงเช้าจึงเย็นสบายและมีหมอกหนา ซึ่งอาจจะช่วยคลี่คลาย สถานการณ์ฝุ่นในกาญจนบุรี ที่ติดอันดับจุดความร้อนจากไฟป่าที่ทำให้ฝุ่น PM 2.5 ปกคลุมในหลายอำเภอเช่น อ.เมืองกาญจนบุรี อ.ทองผาภูมิ อ.ศรีสวัสดิ์ อ.สังขละบุรี ซึ่งเป็นจุดเช็กอินของนักท่องเที่ยว
เช้าวันนี้ ยังพบกลุ่มเด็กเทินหม้อบนศีรษะ มัคคุเทศก์น้อยมายืนรอต้อนรับบริเวณทางเข้า แม้ว่าทางเทศบาลตำบลวังกะ จะมีการจัดระเบียบห้ามให้เด็ก ๆ ทำกิจกรรมบนสะพานไม้มาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้
เด็ก ๆ กลุ่มนี้คือน้องนานา น้องใหม่ และน้องฟนุ่มเด็กนักเรียนวัย 6-8 ปี ที่มาทำกิจกรรมยามว่างหารายได้ ถ่ายรูปเป็นทีระลึกกับนักท่องเที่ยว น้อง ๆ กลุ่มนี้เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน แต่งตัวด้วยชุดพื้นเมือง เทินหม้อบนศีรษะ รอถ่ายภาพกับนักท่องเที่ยว บริเวณทางเข้าสะพานไม้ หลัง เทศบาล ต.วังกะ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ประกาศห้ามเด็ก ๆ ในพื้นที่ ทำกิจกรรมบนสะพานไม้อุตตมานุสรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2565 เพราะองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก กังวลในเรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัย
ขณะที่พี่จุุ๊บแจง นักท่องเที่ยวคนหนึ่ง บอกว่า เห็นภาพความสวยงามของสะพานไม้ผ่านทางออนไลน์ จึงเดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา ท่องเที่ยวหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย
ส่วนนายเมธา นักท่องเที่ยวจากจ.นนทบุรี บอกว่า ญาติชวนมาท่องเที่ยวที่กาญจนบุรี ปักมุดทั้งสะพานมอญ อุทยานแห่งชาติไทรโยค แม้ต้องเผชิญฝุ่น หมอกควัน แต่ส่วนตัวรู้สึกว่า สะพานไม้แห่งนี้ สถานการณ์ฝุ่นน้อยกว่าตลอดเส้นทางที่ขับรถผ่านมา
สะพานอุตตมานุสรณ์ หรือที่นิยมเรียกกันว่า สะพานมอญ เป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในไทย ความยาว 850 เมตร และเป็นสะพานไม้ที่ยาวเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสะพานไม้อูเบ็ง ในเมียนมา
พี่รัชนี สมนาค อายุ 80 ปี จากหาดใหญ่ จ.สงขลา บอกว่า มาเที่ยวสะพานมอญครั้งแรก โดยมากับกลุ่มเพื่อนถึง 40 คน ประทับใจ แม้จะรู้ว่ามีฝุ่นหนาแต่ก็ยังอยากมาเที่ยว
สะพานนี้สร้างขึ้นโดยดำริของ หลวงพ่ออุตตมะ หรือ พระราชอุดมมงคล พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสในหมู่คนไทยเชื้อสายมอญและชาวพุทธทั่วไป ในปี พ.ศ.2529-2530 เป็นสะพานไม้ที่ใช้สัญจรไปมาของชาวมอญและชาวไทยที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ เป็นอีกหนึ่งแลนมาร์กของ จ.กาญจนบุรี