เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา การเติบโตของแพลตฟอร์มนี้ ก้าวกระโดดขึ้นอย่างชัดเจน ด้วยการโฆษณาจาก CEO ของบริษัทอย่าง พันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ หรือ “นอท กองสลากพลัส” ที่ติดต่อลูกค้าหลังออกรางวัลและขนเงินสดเต็มจำนวน ไปมอบให้ถึงหน้าบ้าน คนที่ถูกรางวัลที่ 1 กับกองสลากพลัส
การเข้าตรวจค้นภายในสำนักงาน กองสลากพลัส มีมาแล้วหลายครั้ง จนครั้งล่าสุดเมื่อ 16 ม.ค.2566 เช้าตรู่ในวันที่ออกรางวัลพอดี ตำรวจและหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำหมายค้นเข้าไปตรวจสอบอีกครั้ง
ครั้งนี้ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นำหลักฐานแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. ว่า กองสลากพลัส “ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา”
ตำรวจจึงล่อซื้อผ่านทางออนไลน์ มีหลักฐานการจ่ายโอนเงิน ที่ตกลงซื้อในแต่ละใบมากกว่า 80 บาท อีกทั้งได้ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ทดลองซื้อสลากด้วย ก็พบว่า มีการยินยอมขายให้ จึงกล่าวโทษพร้อมส่งสำนวนให้อัยการพิจารณา
ตำรวจปคบ. ได้รวบรวมหลักฐานประมาณ 1 เดือน และได้ส่งฟ้องต่ออัยการคดีศาลแขวงนนทบุรี เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2566 โดยยื่นฟ้องนายพันธ์ธวัช และบริษัท ลอตเตอรี่ ออนไลน์ จำกัด ฐานความผิด จำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ยังไม่ได้ออกรางวัลเกินราคากว่าที่กฎหมายกำหนด โดยแยกเป็น 8 คดี รวม 48 กรรม พร้อมทั้งนัดหมายให้นายพันธ์ธวัช มารายงานตัวต่ออัยการในวันส่งฟ้องคดี นายพันธ์ธวัช ก็มาตามนัดหมาย
สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับทุกแพลตฟอร์ม ที่มีการขายสลากเกินราคา ซึ่งขณะนี้พนักงานสอบสวน ได้ทำสำนวนเสร็จในแพลตฟอร์มนี้ก่อน ส่วนในแพลตฟอร์มอื่น ๆ ก็จะทยอยส่งสำนวนให้อัยการเช่นกัน ซึ่งก็พบว่ามีความผิดในข้อหาเดียวกัน คือการจำหน่ายสลากเกินราคาฯ
พ.ต.อ.ไกรวิศท์ แสนทวีสุข ผกก.1 บก.ปคบ. กล่าว
ขณะที่นายพันธ์ธวัช เดินทางมารายงานตัวพร้อมส่งฟ้องคดีที่อัยการศาลแขวงนนทบุรีเช่นกัน พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา โดยกองสลากพลัสได้ชี้แจงให้ลูกค้าได้ทราบ ถึงราคาที่จำหน่าย ที่แบ่งเป็นราคาสลาก 80 บาท และค่าบริการแพลตฟอร์มที่จะเพิ่มขึ้นลง ตามราคาต้นทุนสลากที่ทางแพลตฟอร์มรับซื้อมา
อันนี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้อง เราปฏิเสธอยู่แล้ว ผมไม่ได้ขายสลากเกินราคาครับ เราขายสลาก 80 บาทครับ
พันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ ผู้บริหารกองสลากพลัส กล่าว
นายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ ผู้บริหารกองสลากพลัส
สำหรับคดีนี้ อัยการได้นำสำนวนส่งฟ้องที่ศาลแขวงนนทบุรีแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล เนื่องจากนายพันธ์ธวัช ได้ปฏิเสธขอต่อสู้คดี ซึ่งหากตามกฎหมายแล้ว คดีนี้มีโทษปรับกรรมละ 10,000 บาท ซึ่งอัยการได้ส่งฟ้องรวม 48 กรรม หากถูกศาลพิพากษาลงโทษปรับในอัตราสูงสุดก็จะเป็นเงิน 480,000 บาท
ถูกฟ้องคดีเก่าอีก 510 กรรม ถูกปรับ 2.6 ล้านบาท
แม้คดีที่ศาลแขวงนนทบุรีจะยังไม่เสร็จสิ้น แต่อีกคดีที่นายพันธ์ธวัช ถูกดำเนินคดีคือ คดีการขายสลากเกินราคา ตั้งแต่ปี 2564-2565 ที่ตำรวจเข้าตรวจค้นมาก่อนหน้านี้ ซึ่งตำรวจก็ได้รวบรวมหลักฐานมากว่า 1 ปี โดยบอกว่า ได้เรียกสอบสวนพยานกว่า 300 คน พบเส้นทางการเงินที่โอนซื้อขายสลากกว่า 4,200 ครั้ง
ตำรวจ ปคบ. สรุปสำนวนแบ่งเป็น 2 คดี คือ ความผิดฐานขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ยังไม่ได้ออกรางวัลเกินราคากว่าที่กฎหมายกำหนด และจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลให้กับเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี หากแบ่งเป็นกรรมรวม 510 กรรม
คิดว่ามีความเรียบร้อยของสำนวนพอสมควร เพราะว่าเป็นในแนวเดียวกับการทำคดีของศาลแขวงนนทบุรี แต่เป็นความผิดคนละกรรม ได้สอบสวนพยานแล้ว 384 คน ซึ่งนายพันธ์ธวัชก็ให้การปฏิเสธ
พ.ต.ท.ปริญญา ปาละ รองผกก.1 บก.ปคบ.
ช่วงเช้าของวันที่ 7 มี.ค.2566 หลังพนักงานสอบสวนส่งสำนวนไปให้อัยการพิจารณา นายพันธ์ธวัช ก็มารายงานตัวตามนัดหมาย พร้อมปฏิเสธในข้อกล่าวหาของตำรวจ
เรื่องคดีผมก็ต้องปฏิเสธนะครับ ก็ต้องดูว่าพยานหลักฐานที่ได้มาว่าได้มาอย่างไร ข้อมูลลูกค้าได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่ ลูกค้าให้ปากคำอย่างไร สรุปมาอย่างเดียวว่าซื้อมาเท่านี้ ราคาเท่านี้ แต่ลูกค้าทุกคนก็รู้ว่ามีค่าบริการ
พันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ ผู้บริหารกองสลากพลัส กล่าว
นายพันธ์ธวัช ยังเรียกร้องให้ตำรวจเร่งติดตามดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ที่นำรูปของตัวเองไปแอบอ้างว่าเป็นกองสลากพลัส หลอกขายกล่องสุ่ม ซึ่งพบว่า มีอยู่จำนวนมาก ในขณะที่ทางแพลตฟอร์มยุติการขายอยู่ ขณะที่การทำสำนวนคดีของตำรวจในคดีนี้เป็นไปด้วยความรวดเร็วเพียง 1 เดือน เรื่องก็ถึงอัยการแล้ว นอทกลับคำให้การสารภาพในชั้นศาล
วันที่ 10 มี.ค.2566 อัยการพิเศษคดีศาลแขวง 1 ได้นัดหมายให้นายพันธ์ธวัช มาฟังคำสั่งและนัดส่งฟ้องคดี หลังจากพิจารณาสำนวนของตำรวจเสร็จสิ้นใน 3 วัน พร้อมส่งสำนวนให้ศาลแขวงพระนครเหนือพิจารณาทันที
ศาลพิพากษาสั่งปรับเป็นเงิน 2,672,000 บาท เนื่องจากนายพันธ์ธวัชให้การรับสารภาพ หากตามกฎหมายแล้ว โทษปรับสูงสุดในคดีนี้อยู่ที่ 10,000 บาท และหากรวม 510 กรรม ที่อัยการสั่งฟ้อง โทษปรับสูงสุดจะเป็น 5,100,000 บาท
ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว นายพันธ์ธวัชออกมาให้สัมภาษณ์ พร้อมนำสำนวนบางส่วนในคดีมาเผยแพร่ โดยบอกว่า เป็นสำนวนคดีที่สั้นที่สุดเท่าที่เคยเจอ เนื่องจากพนักงานสอบสวน ไม่ได้อธิบายจำนวนสลากที่ถูกซื้อว่ามีกี่ฉบับ แต่ระบุเพียงว่า จำหน่ายในราคารวม 196 บาท ซึ่งสำนวนคดีนี้เป็นคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2564
“มีการขายสลากเกินราคาตั้งแต่เมษายน 2564 ตอนนั้นขายแบบไม่มีค่าบริการ วันนี้จึงตัดสินใจรับสารภาพ และจ่ายค่าปรับไปเรียบร้อย ในจำนวน 510 กรรม ซึ่งตอนนั้นเป็นรูปแบบการขายแบบเก่า ที่ไม่ได้คิดค่าบริการเป็นการคิดรวม จึงตัดสินใจรับสารภาพและจ่ายค่าปรับ เพื่อไม่ให้เสียเวลา ตอนนี้ก็รู้สึกสบายใจขึ้นที่จบคดีนี้ไป คดีนี้เคยถูกปรับไปแล้ว 250,000 บาท แล้ววันดีคืนดีก็รื้อคดีเก่าขึ้นมาทำ ไปวิ่งไล่เคาะประตูลูกค้า ใช้เวลาเดือนครึ่งสรุปสำนวน"
พันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ ผู้บริหารกองสลากพลัส กล่าว
“ทนายเดชา” ระบุ การตีความค่าบริการเหมือน "ศรีธนญชัย"
ไทยพีบีเอส ได้พูดคุยกับนายเดชา กิตติวิทยานันท์ หรือ ทนายเดชา เพื่อสอบถามถึงการดำเนินคดีของตำรวจที่แยกเป็นหลายกรรม ทำให้นายพันธ์ธวัช ถูกดำเนินคดีและเสียค่าปรับจำนวนมาก ทนายเดชาก็บอกว่า ไม่ได้เกินกว่าเหตุ เพราะด้วยคดีในลักษณะนี้ จะคิดแยกเป็นความผิดที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง 1 ครั้ง ก็เป็น 1 กรรม หากจะตรวจสอบจริง ๆ อาจจะพบว่า มีมากกว่าที่ตำรวจดำเนินคดีก็ได้
ส่วนการต่อสู่คดีของนายพันธ์ธวัช ที่บอกว่าเป็นการแยกราคาจำหน่ายสลาก กับค่าบริการ ทำให้ไม่ได้ขายราคานั้น ยังต้องรอให้ศาลตีความ
“ประเทศไทยเรามีประวัติศาสตร์ มีศรีธนญชัย เราก็พลิ้วไปเรื่อย เพราะฉะนั้นการจะตีความว่า “ค่าบริการหรือราคา” ก็ต้องรอศาลตัดสินว่าจะตีความอย่างไร แต่ถ้าถามผม เขาห้ามขายเกิน 80 บาท ใครซื้อเกิน เช่น 100 120 125 บาท จะเรียกชื่ออย่างไรมันก็คือราคา ส่วนหนึ่งของราคา ก็แล้วแต่ศาลจะตีความว่า ค่าบริการคือส่วนหนึ่งของราคาหรือไม่ หรือเป็นค่าบริการหรืออะไร เพราะกฎหมายยังไม่ชัดเจน"
เดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความกล่าว
นายเดชา กิตติวิทยานันท์ หรือ ทนายเดชา
แนะให้ผู้ซื้อเลือกเองผ่านเครื่องฯ ป้องกันรวมชุด
ขณะที่ปัญหาการขายสลากเกินราคา ที่ผ่านมากี่รัฐบาลก็จะเห็นได้ว่า ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ แม้ว่าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จะพยายามเปิดขายสลากผ่านทางแอพลิเคชั่น “เป๋าตังค์” ในราคา 80 บาท มาแล้วก็ตาม
นายวิษณุ วงศ์สินศิริกุล นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์
นายวิษณุ วงศ์สินศิริกุล นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การเปิดช่องทางซื้อสลากผ่านทางออนไลน์ของภาครัฐ ก็อาจจะช่วยให้คนทั่วไปซื้อสลากได้สะดวกมากขึ้น แต่ก็เริ่มมีผลกระทบกับคนขาย เนื่องจากเริ่มมีการเพิ่มโควต้าเป็นกว่า 10 ล้านฉบับ ทำให้การขายเริ่มช้าลง จากเดิมที่มีเพียงกว่า 5 ล้านฉบับ ขายหมดภายในไม่กี่ชั่วโมง
เหตุที่ทำให้การขายผ่านแอพเป๋าตังค์ช้าลง ก็เพราะเลขที่ผู้ซื้อต้องการมีไม่เพียงพอ ท้ายที่สุดอาจจะตกเป็นภาระของผู้ขายที่ต้องลดราคา เพื่อไม่ให้แบกรับต้นทุนมากเกินไป หรือสุดท้ายอาจจะตัดสินใจนำสลากที่ได้โควต้ามา ไปขายต่อให้กับยี่ปั๊ว เพื่อนำไปรวมชุด เพื่อป้องกันการขายสลากไม่หมดในภายหลัง
ต้องทำเป็นออนไลน์ ผู้ซื้อสามารถเลือกเลขที่ต้องการได้ เช่น ต้องการเลข 999 ไปซื้อผ่านเครื่องอัตโนมัติ แล้วตัวเลขก็จะไปขึ้นโชว์ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่ละงวดก็จะตอบโจทย์ด้วยว่า สำนักงานสลากฯ ก็ไม่จำเป็นต้องพิมพ์สลากออกมาเป็น 100 ล้านฉบับ เหมือนทุกวันนี้
บางงวดอาจจะขายได้เกินกว่า 100 ล้านฉบับ แต่บางงวดที่ขายได้ไม่ถึง มันขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ซื้อ แต่ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการพิมพ์สลาก และไม่เป็นภาระของผู้ค้ารายย่อย
ที่สำคัญทำให้การรวมชุดไม่มีประโยชน์ เพราะหากมี 10 ล้านคน ต้องการเลขนี้ ก็เดินไปซื้อได้ แต่หากเทียบกับวันนี้ มีคนต้องการเลขเดียวกัน เมื่อไปซื้อสลากหมด ก็ต้องไปหาที่รวมชุดแทน
เพราะฉะนั้นถ้าแก้ให้ถูกจุดก็จะต้องให้ผู้ซื้อเลือกเลขเองได้ วิธีเดียวก็คือการไปซื้อผ่านเครื่องอัตโนมัติ ไม่ใช่การพิมพ์สลากออกมาแบบนี้
รายงานโดย : เบญจพจน์ ทิพย์กมลแสง ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม