ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ป่าตะวันออกช้างเพิ่ม 8% เตรียมพึ่งยาคุมฮอร์โมน

สิ่งแวดล้อม
13 มี.ค. 66
10:44
696
Logo Thai PBS
ป่าตะวันออกช้างเพิ่ม 8%  เตรียมพึ่งยาคุมฮอร์โมน
วันช้างไทย แนวโน้มช้างป่าเพิ่ม 8% กลุ่มป่าตะวันออก ภาพรวมประชากร 4,013–4,422 ตัวในป่าอนุรักษ์ 91แห่ง ชงแผนแก้ปัญหาช้างครบวงจร ฉีดยาคุมฮอร์โมนแก้ช้างล้นพื้นที่ ตั้งกองทุนเยียวและชุดเฝ้าระวังช้าง เสนอบอร์ดช้าง 5 เม.ย.นี้

13 มี.ค.ของทุกปี ตรงกับวันช้างไทย ปีนี้ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รายงานพบช้างไทย 4,013–4,422 ตัวในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 91 แห่งใน 5 กลุ่มป่ากลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าตะวนัออก กลุ่มป่าดงพญา เย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าแก่งกระจาน โดยบางกลุ่มป่าเช่น ป่ารอยต่อภาคตะวันออก 5 จังหวัดอย่างน้อย 8%

นายเผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า ขณะนี้กรมอุทยานฯ ร่วมกับทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เตรียมนำยาควบคุมฮอร์โมนช้างจากประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อวัคซีน Spyvax ซึ่งมีการใช้แล้วในประเทศแถบแอฟริกา ราคาเข็มละประมาณ 10,000 บาท คุมกำเนิดได้ 7 ปี ใช้กับช้างตัวเมียที่ผ่านการมีลูกแล้ว 1 ตัวขึ้นไป 

โดยเตรียมเริ่มทดลองกับช้างบ้าน 5 เชือกในตัว เมียที่ จ.เชียงใหม่ ต้องมีการศึกษาอย่างน้อยระยเวลา 1 ปี เพื่อเก็บผลการทดลองว่าได้ผลจริงหรือไม่ จากนั้นถ้าได้ผลดีจึงจะนำไปใช้ควบคุมในช้างป่า

เหตุผลที่ต้องเริ่มนำยาควบคุมฮอร์โมนช้าง เนื่องจากแนวโน้มจำนวนช้างป่าเกินศักยภาพการรองรับของพื้นที่ เช่น ป่ารอยต่อตะวันออก 5 จังหวัดซึ่งพบมีลูกเล็กในทุกโขลงที่มีช้างออกนอกพื้นที่ และมีการเกิดช้างนอกพื้นที่ และบางแห่งแม่ช้างยังให้นมลูก แต่กลับพบช้างตัวผู้มาผสมพันธุ์แล้ว ทำให้มีลูกต่อเนื่อง เกินมาตรฐานการให้กำเนิดช้างในแต่ละวงรอบที่ควรห่างกัน 5 ปีครั้ง

ป่าตะวันออกช้างเพิ่ม 8% 

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวอีกว่า อัตราการเกิดมาก พื้นที่ป่าคงเดิม และไม่ได้เพิ่มขึ้น มีการทำคูกันช้าง แต่ยังคงมีช้างออกมาเรื่อย ดังนั้นการศึกษาโดยใช้ฮอร์โมนควบคุมช้างเป็นการวางแผนในอนาคต ที่จะตอบโจทย์ในอนาคตข้างหน้า เรามีหลักคิดเรื่องการเคลื่อนย้ายช้างจากพื้นที่หนาแน่นไปยังพื้นที่เปราะบาง แต่การเคลื่อนย้ายต้องศกึษอย่างรอบครอบ เพราะปลายทางเองก็ไม่มีใครอยากรับ

แนวโน้มประชากรช้างเพิ่มขึ้นแน่นอน ในปี 2560-2561 ได้ประเมินกลุ่มป่าตะวันออก พบช้างเพิ่มขึ้น 8.2% ซึ่งที่ผ่านมาพบความขัดแย้งคนกับช้างมากที่สุด รองลงมาแถวพื้นที่ป่าสลักพระ 

กางสถิติช้างตายปี 2566 แค่ 2 เดือนตาย 10

ข้อมูลจากกรมอุทยานฯ พบว่าในปี 2566 แค่ 2 เดือนกว่า มีช้างป่าตาย 10 ตัว บาดเจ็บ 10 ตัว ส่วนคนเสียชีวิตจากช้าง 12 คน และบาดเจ็บ 14 คน แต่หากรวมในช่วง 7 ปีนับตั้งแต่ปี 2561-2566 พบสถิติช้างป่าตาย 154 ตัว ช้างป่าบาดเจ็บ 63 ตัว คนเสียชีวิต 117 คน และบาดเจ็บ 121 คน

สิ่งที่กังวลและติดตามมาโดยตลอด คือ การกระทำใดใดที่เปลี่ยนแปลงให้ช้างมีพฤติกรรมก้าวร้าว เพราะช้างแยกไม่ออก บางครั้งใช้สัญชาตญาณ ไม่ได้จดจำว่าใครทำร้าย แต่จำว่ามนุษย์ทำให้เจ็บ เมื่อเผชิญหน้าในระยะประชิดช้างอาจจะป้องกันตัวและทำร้ายคนสัตว์ป่าทุกชนิดอันตรายทั้งหมด อยู่ด้วยสัญชาตญาณ

อ่านข่าวเพิ่ม เปิดภารกิจเครือข่ายเฝ้าระวัง "ช้างป่าสลักพระ" ลดขัดแย้งคนกับช้าง

ชงรัฐบาลไฟเขียวแผนช้าง 10 ปี

นายอรรถพล เจริญชันษา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาช้างป่า โดยตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาช้างป่าให้เป็นรูปธรรม โดยจะมีการปะชุมใหญ่วันที่ 5 เม.ย.นี้ โดยจะปรับกลุ่มป่าเชิงพื้นที่เพื่อให้จัดการสัตว์ป่าอย่างเป็นรูปธรรม 

ขณะนี้กรมอุทยานฯ ได้จัดทำร่างแผนการจัดการช้างป่าแห่งชาติ แผน 20 ปี เป็นกรอบในการอนุรักษ์และการจัดการช้างป่าในระดับกลุ่มป่า แผน 10 ปี แผนการจัดการช้างป่าระดับพื้นที่ และแผนการจัดการช้างป่าระยะเร่งด่วน 

โดยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จะพัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และโป่ง
ให้มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อดึงช้างป่าให้อยู่ในพื้นที่ เช่นเดียวกับแนวเขตป่าอนุรักษ์และแนวกันชน ที่ช้างป่าใช้เป็นที่อยู่อาศัยทั้งอยู่ประจำ และออกมาหากินเป็นครั้งคราวในช่วงฤดูแล้ง จะพัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหารสำหรับช้างป่าตามเส้นทางการเคลื่อนตัวของช้าง สร้างจุดพักช้างในป่าชุมชนเพื่อดึงดูดช้างกลับป่า

ตั้งกองทุนเยียวยา-สร้างอาสา 

ส่วนในพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า เริ่มต้นจากการให้ความรู้สร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชนเรื่องพฤติกรรมของช้างป่าและการปฏิบัติต่อช้าง ทั้งท้องที่ ท้องถิ่นและประชาชน ในการอยู่ร่วมกันกับช้างป่า รวมทั้งสร้างเครือข่ายชุมชนอนุรักษ์ช้างป่า ส่งเสริมให้เกิดป่าชุมชนร่วมกับภาครัฐ สร้างกลุ่ม
อาสาสมัครเฝ้าระวังป้องกัน และแจ้งเตือนภัยจากช้างป่า รวมทั้งตั้งกองทุนเยียวยาช้างและสัตว์ป่า 

เบื้องต้นได้นำเงินรายได้จัดชุดเฝ้าระวังช้างและจะมีการปล่อยกำลังชุดแรก 16 มี.ค.นี้ในกลุ่มป่าตะวันออก นอกจากนี้ยังเตรียมของบประมาณในปี 2567 ให้ครบ 16 กลุ่มป่าในการจัดชุดเฝ้าระวัง  

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการศึกษาวิจัยร่วมกับ วช.อีกทางเลือกในการแก้ปัญหาคือการทำพื้นที่ควบคุมพฤติกรรมช้าง หรือเขตกักกันช้างป่า โดยพื้นที่ตรงไหนที่มีช้างเกเรออกไปทำลายพืชผลอาสินของประชาชน จะมีการจัดพื้นที่ 1,000-2,000 ไร่ กำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมช้างเพื่อลดความเสียหายต่อประชาชน และการศึกษาฉีดยาคุมฮอร์ไมนช้างเพื่อลดจำนวนประชากร ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง