นับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1990 ที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ถูกส่งไปโคจรรอบโลกที่ระดับ 550 กิโลเมตรเหนือพื้นผิว นักดาราศาสตร์ได้ใช้กล้องฮับเบิลในการศึกษาเกี่ยวกับจักรวาล ซึ่งนำไปสู่การค้นพบพลังงานมืด ไปจนถึงการตรวจพบดาวเคราะห์ต่างระบบในเวลาต่อมา
แต่ทว่า ล่าสุดนักดาราศาสตร์ก็ได้เผยว่ามีภาพถ่ายอวกาศที่ถูกดาวเทียมตัดผ่านหน้ากล้องเป็นจำนวนมาก เนื่องจากทุกปีนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรของโลกเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นปีละหลายพันดวง ซึ่งดาวเทียมบางส่วนมีวงโคจรอยู่ที่ระดับ 550-570 กิโลเมตรเหนือพื้นผิว นอกจากนี้ก็ยังมีปัจจัยเรื่องวงโคจรของกล้องฮับเบิลที่กำลังค่อย ๆ ลดระดับลงจากอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของโลกด้วย จนคงอยู่ที่ระดับ 530 กิโลเมตรเหนือพื้น ซึ่งต่ำกว่าแนวโคจรของดาวเทียมส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
โดยงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy ฉบับเดือน มีนาคม ค.ศ. 2023 ได้ให้ข้อมูลทางสถิติที่สำคัญว่า ในจำนวนภาพถ่ายจากกล้องฮับเบิลทั้งหมดระหว่างปี ค.ศ. 2002 ถึง 2021 มีภาพถ่ายร้อยละ 2.7 ที่มีร่องรอยของดาวเทียมตัดผ่าน ซึ่งอาจเพิ่มจำนวนเป็นร้อยละ 50 ได้ ภายในระยะเวลา 10 ปีนี้ หากอ้างอิงตามนโยบายของบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์ดาวเทียมอย่างเช่น สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) จึงทำให้ดาวเทียมในวงโคจรของโลกจะเพิ่มจำนวนขึ้นจากหลักพันดวงในปัจจุบัน ให้กลายเป็นหลักแสนดวงได้
นักดาราศาสตร์จึงได้พยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยการติดตั้งระบบตรวจสอบวิถีโคจรของดาวเทียมอย่างละเอียด ส่วนทางวิศวกรที่ดูแลกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลก็ได้ติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จะส่งข้อมูลบอกนักดาราศาสตร์ หากมีดาวเทียมโคจรมาตัดผ่านเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องดาวเทียมตัดหน้ากล้องนี้ เกิดขึ้นแค่ในกล้องโทรทรรศน์ที่อยู่บนพื้นผิวโลกหรือกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่อยู่บนโคจรอยู่ใกล้โลกเท่านั้น ขณะที่กล้องโทรทรรศน์รุ่นใหม่ทั้งหลายอย่าง "เจมส์ เวบบ์" นั้นไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากโคจรอยู่ในพื้นที่อวกาศที่มีตำแหน่งเลยดวงจันทร์ออกไป
ที่มาข้อมูล: Nature Astronomy , The New York Times
ที่มาภาพ: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech