ยังไม่ถึง 1 สัปดาห์ นับตั้งแต่ สี จิ้นผิง กระชับอำนาจบริหารประเทศก็มีกระแสข่าวหนาหูว่า ผู้นำจีนเตรียมเดินทางเยือนรัสเซีย เพื่อหารือกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งแม้จะยังไม่มีกำหนดการออกมาชัดเจน แต่มีรายงานว่าการพบกันของ 2 ผู้นำโลกอาจจะเกิดขึ้นในวันอังคารที่จะถึงนี้
ทำไมผู้นำจีนถึงจะไปเจอผู้นำรัสเซียเร็วขนาดนี้
ดูลำดับเหตุการณ์ก่อนที่จะมาถึงวันนี้ จะเห็นถึงความเคลื่อนไหวของจีนต่อประเด็น "สงครามรัสเซีย-ยูเครน" โดยนับตั้งแต่มีการประกาศจุดยืน 12 ข้อ เพื่อยุติวิกฤตในยูเครน ผู้นำจีนได้เปิดบ้านรับการมาเยือนของ อเลกซานเดอร์ ลูคาเชนโก ปธน.เบลารุส ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของผู้นำรัสเซียในกรุงปักกิ่ง
1 ในหัวข้อการหารือครั้งนี้ ย่อมต้องมีประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครนรวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะการหยิบยกเอาข้อเสนอสันติภาพ 12 ข้อ ขึ้นมาหารือกับผู้นำเบลารุส ถึงโอกาสและความเป็นไปได้หากนำข้อเสนอนี้ไปคุยกับผู้นำรัสเซียจริง
โดยแผนหยั่งเชิงรัสเซียผ่านการหารือกับผู้นำเบลารุส นับเป็นก้าวแรกของผู้นำจีนในฐานะ "ตัวกลางทางการทูต" ขณะที่การเดินเกมสร้างสันติภาพจริงๆ แล้ว เริ่มต้นขึ้นหลัง "สี" นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยที่ 3 อย่างเต็มตัว
โฉมหน้าของผู้นำประเทศ ที่ "สี" เตรียมเดินทางไปคุยด้วย โดยเริ่มตั้งแต่การนำข้อเสนอสันติภาพไปหารือกับผู้นำรัสเซีย ก่อนที่จะต่อสายตรงถึง โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ปธน.ยูเครน ที่ก่อนหน้านี้ ดูเหมือนว่ายูเครนจะมีท่าทีในเชิงบวกต่อจุดยืนของจีน
โดยเฉพาะการออกมาให้ข้อมูลของหัวหน้าข่าวกรองยูเครน ที่ระบุว่าไม่พบสัญญาณว่าจีนมีแผนส่งอาวุธให้รัสเซีย ซึ่งจุดนี้สวนทางกับชาติตะวันตก ที่ออกมาประโคมข่าวใหญ่โตว่า จีนยังไม่ปัดโอกาสในการจัดส่งอาวุธไปช่วยรัสเซียทำสงคราม
ดังนั้น น่าจับตามองว่า ผู้นำยูเครนจะมีความเห็นอย่างไรต่อแผนสันติภาพฉบับจีนบ้าง และภายหลังการหารือกับคู่ขัดแย้งหลักในสงคราม มีรายงานว่าผู้นำจีนเตรียมพูดคุยกับผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักของกองทัพยูเครน
ส่วนผู้นำฝรั่งเศสเตรียมเยือนจีนในเดือนเมษายนนี้ ซึ่ง แอมานุแอล มาครง เป็น 1 ในแรงขับเคลื่อนทางการทูต ด้วยการพยายามเข้ามาเป็นกาวใจประสาน รอยร้าวระหว่างรัสเซียกับยูเครนมาโดยตลอด ตั้งแต่สงครามยังไม่เริ่มขึ้นเสียอีก
ขณะที่ถ้ามาดูจุดยืน 12 ข้อของจีนก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะครอบคลุมหลายด้าน มีทั้งการเคารพอธิปไตยของทุกประเทศ เลิกความคิดสมัยสงครามเย็น ซึ่งประเด็นนี้ชัดเจนว่าพุ่งเป้าโจมตีสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังพูดถึงการยุติความขัดแย้งและฟื้นการเจรจาเพื่อแก้ไขวิกฤต โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนและลดความเสี่ยงจากอาวุธนิวเคลียร์
จุดยืนอย่างการยุติการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวสะท้อนถึงการเอาใจรัสเซีย ซึ่งบางคนมองว่าจีนเสนอแบบนี้เพื่อจูงใจ ปูติน แต่จุดที่น่าสนใจที่สุด คือ การที่จีนสนับสนุนการบูรณะฟื้นฟูยูเครนหลังสงคราม
ประเด็นนี้ทำให้เรามองไปถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่อาจเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้รัฐบาลในกรุงปักกิ่งเดินหน้าแผนสันติภาพในครั้งนี้ ซึ่งก่อนหน้าสงคราม ความร่วมมือทางการค้าระหว่างจีนกับยูเครนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2021 มูลค่าการค้าระหว่างกันใกล้แตะ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ถึงแม้ตัวเลขการส่งออกสินค้าจากจีนไปยูเครนจะไม่ค่อยสูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่จีนถือเป็นนักลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานรายใหญ่ที่สุดของยูเครน ซึ่งประเทศนี้อยู่ในจุดยุทธศาสตร์หนึ่งของโครงการแถบและเส้นทาง (BRI) โดยจีนเลือกเปิดศูนย์การค้าและการลงทุน BRI ในกรุงเคียฟ เมื่อปี 2018
นักธุรกิจจีน ทั้งจากภาครัฐและตัวแทนรัฐเข้าไปลงทุนในหลายภาคอุตสาหกรรมของยูเครน ซึ่งรวมถึงในเมืองที่ตกเป็นสมรภูมิรบเดือดเมื่อปีที่แล้ว อย่างมารีอูปอลด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเส้นทางลำเลียงสินค้าทางรถไฟ ซึ่งวิ่งตรงระหว่างเมืองอู่ฮั่นกับกรุงเคียฟ และมณฑลกวางตุ้งกับท่าเรือใกล้เมืองโอเดสซา ตั้งแต่ปี 2020 ด้วย ดังนั้น อาจมองได้ว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นทั้งแรงจูงใจที่ดึงดูดจีนให้เข้ามาแก้ไขวิกฤตความขัดแย้ง และยังเป็นแต้มต่อที่มีน้ำหนักมากเพียงพอที่จะทำให้จีนออกมาเล่นบทผลักดันสันติภาพให้เกิดขึ้น
มองในแง่หนึ่ง การก้าวเข้ามาในเกมสงครามของจีนในครั้งนี้นับว่ามาในเวลาที่ถูกจังหวะ เพราะนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่ง คาดการณ์ว่า การสนับสนุนยูเครนของสหรัฐฯ อาจจะเริ่มแผ่วลงหลังจากนี้ ในขณะที่หลายชาติในยุโรปอยากยุติสงครามเพื่อหันมาแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนในประเทศ ดังนั้น จีนจึงอาจกลายมาเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับรัสเซียและยูเครน ในการยุติสงครามที่กำลังเป็นวิกฤตโลกอยู่ในขณะนี้
วิเคราะห์โดย ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์
อ่านข่าวต่างประเทศเพิ่ม :