การทากันแดดเป็นปัญหาหนักใจของคนที่ชอบลงทะเลดำน้ำไปดูปลาไม่ใช่น้อย เพราะกันแดดจะช่วยปกป้องผิวจากแสงแดดและรังสียูวีที่ทำร้ายผิว แต่สารเคมีจากครีมกันแดดก็เสี่ยงทำร้ายปะการังได้ ในตอนนี้สามารถคลายความกังวลใจเรื่องนี้ไปได้เลยเพราะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua University) ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ได้สร้างครีมกันแดดต้นแบบที่มีตัวกรองรังสียูวีแบบพอลิเมอร์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าครีมกันแดดทั่วไปในการป้องกันผิวไหม้จากแสงแดด นอกจากนี้ยังไม่เป็นพิษต่อปะการังด้วย
ครีมกันแดดตัวนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการที่นักวิทยาศาสตร์ได้ไปท่องเที่ยวดูปะการัง แล้วพบว่าครีมกันแดดมีส่วนทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาว จึงเริ่มสนใจที่จะสร้างครีมกันแดดที่เป็นมิตรต่อปะการัง โดยเริ่มจากการสร้างโมเลกุลรูปวงแหวนต่าง ๆ ที่มีโครงสร้างคล้ายกับอโวเบนโซน (Avobenzone) ซึ่งเป็นสารกรองรังสียูวีที่ใช้ในครีมแดดเชิงพาณิชย์ จากนั้นเชื่อมโยงโมเลกุลเข้าด้วยกันด้วยการจัดเรียงตัวที่ละลายน้ำได้ ทำให้เกิดโมเลกุลขนาดใหญ่ขึ้นที่เรียกว่าพอลิเมอร์
นักวิทยาศาสตร์ได้เลือกพอลิเมอร์กลุ่มที่มีแนวโน้มดีที่สุด โดยพิจารณาจากความสามารถในการดูดซับความยาวคลื่นอัลตราไวโอเลต ซึ่งเป็นสาเหตุของผิวไหม้จากแสงแดด และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง จากการทดสอบกับหนูพบว่าตัวกรองมีประสิทธิภาพในการป้องกันผิวหนังไหม้จากรังสียูวีได้ดีกว่าอโวเบนโซน และออกซีเบนโซน ซึ่งเป็นสารในครีมกันแดดปัจจุบัน โดยผิวหนังของหนูที่ถูกทดสอบไม่ดูดซึมพอลิเมอร์ที่ละลายน้ำและไม่มีอาการอักเสบใด ๆ อีกทั้งผ่านการทดสอบแล้วว่าไม่ส่งผลกระทบต่อสาหร่ายคลอเรลล่า หรือปะการังทั่วไป 2 ชนิด ได้แก่ อโครโพรา (Acropora) และปาลิโธอา (Palythoa) ซึ่งฟอกขาวและตายภายใน 6 และ 20 วันหลังจากได้รับอโวเบนโซนตามลำดับ
ครีมกันแดดที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้จะเป็นมิตรต่อปะการังโดยไม่มีสารที่ทำให้ปะการังฟอกขาว แต่ยังคงเป็นครีมกันแดดต้นแบบที่ต้องได้รับการพัฒนาต่อไป เนื่องจากโครงสร้างตัวกรองรังสียูวีของครีมกันแดดตัวนี้ยังไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะสามารถพัฒนาให้เกิดการรวมสารประกอบนี้เข้ากับสารอื่น ๆ เพื่อสร้างตัวกรองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพในอนาคต
ที่มาข้อมูล: gizmodo, dermatologytimes, chemistryworld
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech