วันนี้ (27 มี.ค.2566) น.ส.พรรณราย ว่องวัฒนกิจ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ รายงานผลการตรวจร่างกายลูกช้างป่าพลัดหลงในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ว่า โดยรวมลูกช้างมีความตื่นตัวดี ลุกยืน เดิน วิ่งได้ ผอมกว่าปกติเล็กน้อย มีภาวะขาดน้ำเล็กน้อย มีความอยากอาหารดี ดูดกินนมจากขวดเองได้ มีการขับแก๊สโดยการเรอและผายลมได้
ในแต่ละคืนเจ้าหน้าที่จะนำลูกช้างใส่คอกไว้ในจุดที่คาดว่ามีช้างเป้าหมายอยู่ และปรับตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ล่าสุดยังไม่พบช้างมารับแต่อย่างใด
จากการตรวจร่างกายโดยละเอียด พบความผิดปกติที่เยื่อตาขาวบริเวณตาทั้งสองข้างแดงอักเสบ บริเวณสะดือยังปิดไม่สนิท พบหนองในสะดือ ความลึกของสะดือที่ยังไม่ปิดประมาณ 2 เซนติเมตร ไม่พบหนอนแมลงวัน มีบาดแผลถลอกตามร่างกายเล็กน้อย ถ่ายเหลว ปริมาณไม่เยอะ ความถี่ไม่บ่อย สัตวแพทย์แก้ไขโดยการปรับสูตรนมตามเหมาะสมและกำชับเรื่องความสะอาดของอุปกรณ์ป้อนนม
ในส่วนของการรักษาและวางแผนดูแลสุขภาพ เบื้องต้นสัตวแพทย์ปรับความถี่การป้อนนมเป็นทุก 2-3 ชั่วโมง (เจ้าหน้าที่หน้างานสามารถปรับได้ตามเหมาะสม) ล้างตา เช็ดคราบขี้ตาให้สะอาด หยอดตาด้วยยา Poly-Oph วันละ 4 ครั้ง ล้างแผลบริเวณสะดือ ล้างน้ำเกลือ เช็ดหนองออก ใส่ยาฆ่าเชื้อ พ่นสเปรย์ยาบริเวณแผลถลอกตามร่างกาย เสริมวิตามินซีให้กิน วันละ 1 เม็ด เพื่อช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ผสมยาน้ำช่วยขับลม Gripe water ใส่ในนมให้กิน เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะท้องอืดจากการปรับมากินนมทดแทน เสริมแคลเซียมแบบเม็ดให้กิน (กำลังอยู่ในขั้นตอนจัดซื้อ)
ทั้งนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลบันทึกข้อมูลการดูแลลูกช้างป่า แจ้งการตรวจประเมินสุขภาพในแต่ละวัน หากพบภาวฉุกเฉินให้รีบแจ้งสัตวแพทย์ทันที นอกจากนี้ในวันที่พรุ่งนี้ (28 มี.ค.) ทีมสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) จะเข้าไปเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจโรค EEHV ต่อไป พร้อมกันนี้ได้เตรียมประสานขอยาต้านไวรัสสำรองไว้ใช้กรณีจำเป็นด้วยแล้ว