วันนี้ (28 มี.ค.2566) ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตฝุ่นควันในภาคเหนือ จะคลี่คลายได้ มาจาก 2 ปัจจัย แหล่งกำเนิดฝุ่นควัน และ สภาพอากาศ

ในส่วนของแหล่งกำเนิดฝุ่น หรือ พื้นที่เผาไหม้ แน่นอนเมื่อมีจุดความร้อนเกิดขึ้น เชื้อเพลิงถูกเผาไปแล้ว ก็จะไม่เกิดการลุกไหม้ซ้ำ พื้นที่เชื้อเพลิงที่เหลือ จึงเป็นเป้าหมาย ที่ต้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการลุกไหม้ขึ้น
ส่วนเรื่องสภาพอากาศ แม้อากาศจะเริ่มร้อนทำให้การระบายอากาศดีขึ้น แต่ช่วงนี้ เนื่องจากแหล่งกำเนิดควันมีมากกว่า จึงฝุ่นควันสะสม

สำหรับโอกาสที่เกิดฝนตกมาคลี่คลายฝุ่นควัน ความหวัง น่าจะมาจากพายุฤดูร้อน ซึ่งสถิติภูมิอากาศที่ผ่านมา พบว่าภาคเหนือตอนบนจะมีพายุฤดูร้อน และลมแรง มาช่วยการระบายฝุ่น ประมาณสัปดาห์แรก ของเดือนเมษายน จนถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์
แต่หากพายุฤดูร้อนไม่มาตามนัด ก็อาจทำให้สถานการณ์ฝุ่นควันรุนแรงขึ้น และแม้ตามสถิติ ปัญหาฝุ่นควันมักจะคลี่คลายในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ แต่ก็มีบางปี ที่ฝุ่นควันลากยาวไปถึงสิ้นเดือนเมษายน

ทั้งนี้ปรากฎการณ์ลานีญ่า 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกหนัก ส่งผลให้เชื้อเพลิงชีวมวลตกค้างสะสมมากกว่าปกติ และถือเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ฝุ่นควันปีนี้ ค่อนข้างรุนแรง ณ ปัจจุบัน สิ่งที่ภาครัฐควรต้องเร่งทำ คือ การสื่อสารแก่ประชาชนในการป้องกันตัว ทั้งการสวมหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่นได้ และห้องปลอดฝุ่น