วันนี้ (29 มี.ค.2566) เปิดตัวบัตรเหมาจ่าย TRANSIT PASS RED LINE BBK X BMTA หรือ บัตรเหมาจ่ายรถไฟฟ้าสายสีแดงกับรถโดยสาร (รถเมล์) ของ ขสมก. เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการเดินทางได้ด้วยการใช้บัตรใบเดียว
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เปิดเผยว่า บัตรเหมาจ่ายจัดจำหน่ายใบละ 2,000 บาท และค่าธรรมเนียมออกบัตร 100 บาท รวมค่าใช้จ่าย 2,100 บาท โดยหาซื้อบัตรเหมาจ่ายได้จากจุดจำหน่ายบัตรของ ขสมก. และ รฟท. สามารถใช้บัตรเหมาจ่ายแตะชำระค่าโดยสารที่เครื่องชำระค่าโดยสารอัตโนมัติ (EDC) บน รถเมล์ ขสมก. ที่ให้บริการปัจจุบัน 2,885 คัน และจุดรับชำระค่าโดยสารที่ รฟท. กำหนด
หลังจากเติมเงินบัตรจะมีอายุการใช้งาน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่แตะชำระครั้งแรกที่ ขสมก. และ รฟท. อย่างใดอย่างหนึ่ง จนกว่าการเติมเงินครั้งถัดไป โดยสามารถใช้งานกับรถเมล์ ขสมก. ทุกประเภทแบบไม่จำกัดเที่ยว
ส่วนกรณีใช้ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงจะนับจำนวนเที่ยวสูงสุด 50 เที่ยวต่อการเติมเงินหนึ่งครั้ง หากใช้จำนวนเที่ยว 50 เที่ยวหมดก่อน 30 วัน จะไม่สามารถใช้ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงได้อีก แต่ยังใช้ชำระค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก. ได้จนกว่าครบ 30 วัน เช่น ผู้โดยสารใช้งานรถไฟฟ้าสายสีแดงครั้งแรกวันที่ 1 เม.ย.66 ครบ 50 เที่ยว ในวันที่ 25 เม.ย.66 ผู้โดยสารไม่สามารถใช้ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงได้อีก แต่ยังคงใช้ชำระค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก. ได้จนถึงวันที่ 30 เม.ย.66 ตามปกติ จนกว่าจะเติมเงินรอบต่อไป
ปัจจุบันผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง 25,000 คนต่อวัน แบ่งเป็นใช้จ่ายผ่านบัตรประเภทต่าง ๆ รถไฟฟ้าสายสีแดงรองรับ 4,000-5,000 คนต่อวัน ที่เหลือจ่ายค่าโดยสารผ่านเหรียญโดยสาร คาดว่ามีบัตรเหมาจ่ายจะเพิ่มให้มีผู้มาใช้จ่ายผ่านบัตรเป็น 10,000 คนต่อวัน ส่วนค่าโดยสารจำนวน 50 เที่ยว จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,250 บาท หรือ เฉลี่ย 25 บาทต่อเที่ยว เมื่อมีบัตรเหมาจ่ายจะจ่ายแค่ 1,100 บาท หรือเฉลี่ย 22 บาทต่อเที่ยว ช่วยประหยัดได้ 150 บาท หรือ 3 บาทต่อเที่ยว
ขณะที่ซื้อบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ขสมก. ประเภทรถเมล์แอร์แบบรายเดือนราคา 1,020 บาท แต่เมื่อซื้อบัตรแบบเหมาจ่ายจะจ่ายแค่ 900 บาทต่อ 30 วัน ซึ่งช่วยประหยัดได้ 120 บาทต่อเดือน
ด้าน นางพริ้มเพรา วงศ์สุทธิรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า หากมีบัตรเหมาจ่ายตั้งเป้าจะเพิ่มยอดชำระผ่านเครื่อง EDC อยู่ที่ 55,000-60,000 คนต่อวัน จากจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถเมล์ประมาณ 700,000 คนต่อวัน หลังจากนี้ ขสมก. และรถไฟฟ้าสายสีแดงจะใช้เวลาประมาณเมิน 6 เดือน เกี่ยวกับจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการ รวมทั้งระบบการใช้งานต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องกับการใช้งานต่อไป
ขณะที่ นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ในระยะต่อไปบัตรดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับเส้นทาง อื่น ๆ หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชน