วันนี้ (7 เม.ย.2566) นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) หรือวอร์รูมต้านโกง กทม. ที่มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธานว่า ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาได้รับแจ้งเกี่ยวกับการทุจริตเข้ามาประมาณ 70 คน ผ่านทั้งระบบ Traffy Fondue รวมถึงเข้ามาแจ้งด้วยตนเอง และส่งหนังสือเข้ามา
จากการตรวจสอบว่าเกี่ยวข้องประมาณ 20 คน ได้มีการลงโทษทางวินัย และดำเนินคดีอาญาไปแล้วบางส่วนประมาณ 4 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นผอ.โรงเรียนบางชัน ฝ่ายรายได้เขตสวนหลวง ส่วนล่าสุดเป็นหัวหน้าฝ่ายรายได้เขตราชเทวี
นายเฉลิมพล กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าทางคดีทางกรุงเทพมหานคร ขณะนี้รอทางกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปท.) ขอข้อมูลเพิ่มเติม ส่วนที่ว่ามีข้าราชการเกี่ยวข้องอีกกว่า 10 คน ตามบัญชีที่ พบทางกทม. ยังไม่เห็นรายชื่อว่าเกี่ยวกับข้าราชการคนใดบ้าง
อ่านข่าวเพิ่ม ปปป. พบ จนท.รัฐเอี่ยวรับสินบนกว่า 10 คน - เรียก 100 บริษัทให้ข้อมูล
สั่งพักราชการหน.ฝ่ายรายได้เขตราชเทวี
โดยที่ผ่านมา นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกทม.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย และวันนี้ได้มีคำสั่งให้พักราชการ ในระหว่างรอกระบวนการสอบสวน หากเรื่องยืดเยื้อก็จะสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ผลการสอบสวนประมาณ 120 วัน สามารถขยายได้ไม่เกิน 180 วัน สำหรับคดีอาญา เป็นหน้าที่ของ ปปป.อยู่ระหว่างการส่งเรื่องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณา
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นอกจากนี้วอร์รูมต้านโกง กทม. ได้ส่งเรื่องร้องเรียน ไปยัง ป.ป.ช.จำนวน 2 เรื่อง และป.ป.ท. อีก 1 เรื่อง ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่เกี่ยวกับประเด็นทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง อีกไม่นานคงแถลงเป็นข่าวใหญ่
อ่านข่าวเพิ่ม สอบเพื่อนสาวคนสนิท หน.ฝ่ายรายได้เขตราชเทวี พบเงินหมุนเวียน 5 ล้าน
ทั้งนี้ในส่วนการสอบสวนของ กรุงเทพมหานครเอง ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 6 คณะ เน้นโฟกัสไปยังโครงการหรือหน่วยงานสำคัญ เช่น คณะด้านโยธา, คณะด้านเทศกิจ, คณะด้านวัฒนธรรม, คณะด้านการศึกษา, ได้ลงพื้นที่ออกตรวจและล่าสุดคณะที่เกี่ยวกับงานพัฒนาสังคม เพื่อเป็นการป้องปรามไว้ก่อน เนื่องจาก จะต้องมีงบประมาณลงไปตามชุมชนต่างๆ
นำร่องระบบ ISO 37001 จับเสี่ยงโกง
นอกจากนี้ นายชัชชาติ ได้ประกาศให้ใช้ ระบบ "ISO 37001" ซึ่งจะเป็นระบบที่มาช่วยจัดการเกี่ยวกับความสุ่มเสี่ยงทุจริต และเป็นระบบที่ต้องมีหน่วยงานจากภายนอกเข้ามาร่วมประเมิน ซึ่งในประเทศไทยขณะนี้ มีใช้อยู่แห่งเดียวคือ ปตท.
โดยระบบนี้ อาจนำมาเริ่มใช้กับสำนักสำคัญของกรุงเทพมหานคร เช่น สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตชั้นในสำนักงานเขตขั้นนอก เพื่อเป็นตัวอย่างทำให้เป็นมาตรฐาน โดยให้คนภายนอกเข้ามาประเมินด้วย ในช่วงแรกจะเป็นการอบรมให้ความรู้กับหน่วยงานก่อน จากนั้นจะเริ่มดำเนินการในปีต่อไป
ที่ผ่านมาการตรวจสอบภายในของกทม. แทบตรวจสอบกันเองไม่ได้ เพราะยากที่จะรู้ว่ามีการโกง ทุจริตเกิดขึ้นในรูปแบบไหนอย่างไร แต่หลังจากประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน ทำให้เกิดระบบการตรววจสอบที่ง่ายมากขึ้น
สำหรับหน่วยงานที่สุ่มเสี่ยงเกิดทุจริตได้มากที่สุด คือ อันดับ กลุ่มที่ออกใบอนุญาตสำนักงานโยธา กลุ่มเทศกิจ กลุ่มสิ่งแวดล้อม และ กลุ่มฝ่ายรายได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ค้นบ้าน หน.ฝ่ายรายได้เขตราชเทวี พบเงิน 6.9 ล้านบาทซุกรถยนต์ภรรยา