"เปลือกไข่" คือ ขยะจากอาหารที่พบได้มากในทุกครัวเรือน เนื่องจากไข่เป็นวัตถุดิบที่หาซื้อได้ง่าย ทำอาหารได้หลากหลาย คิดไม่ออกว่าจะกินอะไรคนเราก็มักจะนึกถึงไข่ไว้ก่อนเสมอ เปลือกไข่จึงเป็นขยะที่พบได้เป็นจำนวนมาก หากสามารถเปลี่ยนขยะนี้ให้กลายเป็นวัสดุใหม่เพื่อใช้งานต่อได้คงจะดีไม่น้อย บริษัทออกแบบสัญชาติเม็กซิโกจึงเปลี่ยนเปลือกไข่เหล่านี้ให้เป็นก้อนอิฐ วัสดุก่อสร้างชั้นเยี่ยม และช่วยลดขยะในครัวเรือนลงได้
ในปัจจุบันประเทศเม็กซิโกกำลังเผชิญกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งมีขยะอินทรีย์เหลือทิ้งจำนวนมาก และอุตสาหกรรมเซรามิกที่ปล่อยก๊าซที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอัตราสูง จึงทำให้บริษัท Manufactura ตัดสินใจใช้ขยะอินทรีย์ที่หาได้ง่าย และมีน้ำหนักเบาในท้องถิ่นอย่างเปลือกไข่มาใช้เพื่อผลิตวัสดุใหม่
เมื่อได้เปลือกไข่มาแล้ว จะต้องนำเปลือกไข่ไปทำความสะอาด จากนั้นบดและปั่นจนละเอียด แล้วนำเปลือกไข่ไปรวมกับสารยึดเกาะชีวภาพ เปลือกไข่ก็จะเปลี่ยนเป็นส่วนผสมที่สามารถแข็งตัวได้โดยไม่ต้องเผา อีกทั้งส่วนผสมนี้ยังเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ
การผลิตก้อนอิฐจากเปลือกไข่จึงเป็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง โดยเป็นการผสมผสานระหว่างการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ การผลิตแบบดิจิทัล และความก้าวหน้าทางวัสดุ มีจุดประสงค์สำคัญในการเปลี่ยนแปลงของเสีย และสร้างความตระหนักรู้ด้วยสิ่งแวดล้อม โดยก้อนอิฐแต่ละก้อนถูกสร้างขึ้นด้วยกระบวนการหมุนเวียนที่ยั่งยืน 100% เนื่องจากวัตถุดิบที่ได้นั้นมาจากการขอบริจาคจากร้านอาหารต่าง ๆ ในเม็กซิโก ซึ่งใช้เวลาในการรวบรวมเปลือกไข่ทั้งหมดเป็นระยะเวลากว่า 2 เดือน
ที่มาข้อมูล: designboom, interestingengineering, coolhunting, 3dprintingindustry
ที่มาภาพ: manafactura (instagram)
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech