ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เตือนอันตราย "ยาอี" บรรจุซองคอลลาเจน-กาแฟ ขายผ่านออนไลน์

สังคม
15 เม.ย. 66
16:22
838
Logo Thai PBS
เตือนอันตราย "ยาอี" บรรจุซองคอลลาเจน-กาแฟ ขายผ่านออนไลน์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สบยช.เผยพบ "ยาอี" บดเป็นผงบรรจุในซองคอลลาเจน-กาแฟ วางขายในสื่อออนไลน์ เตือนอันตรายทำลายระบบประสาท หากเสพพร้อมดื่มแอลกอฮอล์-ยาชนิดอื่น อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้

วันนี้ (15 เม.ย.2566) นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี (Ecstasy) ว่า เป็นยาเสพติดตัวเดียวกัน และเป็นยาเสพติดให้โทษร้ายแรง อาจอันตรายถึงตายได้ โดยมีลักษณะเป็นเม็ดกลมแบน ด้านหนึ่งนูนหรือเรียบ หรือมีขีดแบ่งครึ่ง อีกด้านหนึ่งมีสัญลักษณ์บนเม็ดยาเป็นรูปต่างๆ เช่น ค้างคาว นก ดวงอาทิตย์ เป็นต้น

ยาอี มีฤทธิ์หลอนประสาทและกระตุ้นประสาท เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายจะออกฤทธิ์ภายในเวลา 30-45 นาที และฤทธิ์ของยาจะอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 6-8 ชั่วโมง โดยออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทในระยะเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นจะหลอนประสาทอย่างรุนแรง ผู้เสพจะรู้สึกร้อน เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง การได้ยินเสียงและการมองเห็นแสงสีต่าง ๆ ผิดไปจากความเป็นจริง เคลิบเคลิ้ม รู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้

ปัจจุบันมีการลักลอบนำยาอีบดเป็นผงบรรจุลงในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ซองคอลลาเจน ซองกาแฟ ซองเครื่องดื่มเกลือแร่ โดยพบว่ามีการวางขายในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ที่กำลังฮิตในกลุ่มวัยรุ่น

ด้าน นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผอ.สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ยาอีที่ถูกลักลอบบรรจุลงในผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ววางขายในสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ตรวจสอบได้ยาก

เมื่อเสพยาอีเข้าไปจะทำลายระบบประสาท ทำให้เซลล์สมองส่วนที่ทำหน้าที่หลั่งสารซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการควบคุมอารมณ์ทำงานผิดปกติ โดยจะหลั่งสารนี้ออกมามากกว่าปกติทำให้สดชื่น อารมณ์ดี

แต่เมื่อเวลาผ่านไปสารดังกล่าวจะลดน้อยลง ทำให้ผู้เสพเข้าสู่สภาวะอารมณ์เศร้าหมองหดหู่ เกิดอาการซึมเศร้า และอาจกลายเป็นโรคจิตประเภทซึมเศร้า มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ ขณะที่บางคนนิยมเสพพร้อมกับดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพยาชนิดอื่นร่วมด้วย อาจทำให้เกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม หากคนใกล้ตัวมีพฤติกรรมเสี่ยงและพบสิ่งต้องสงสัย ควรพูดคุยด้วยเหตุผล ไม่ใช้ความรุนแรง และรีบพาไปพบแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ทั้งนี้สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) จ.ปทุมธานี

รวมถึงโรงพยาบาลธัญญารักษ์ ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่, โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน, โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น, โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี, โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน

อ่านข่าวอื่นๆ

"มะลิ"เน็ตไอดอล เตือนฉีดฟิลเลอร์พลาดเข้าเส้นเลือดหวิดเสียโฉม

เตือน “อิ๊วโซดา” เสี่ยงสุขภาพพังรับเกลือ-น้ำตาลมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง