สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผยช่วงเช้า 20 เม.ย.2566 จะเกิด "สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย" เวลาประมาณ 10.22 - 11.43 น. คราสบังมากสุดทางภาคใต้ที่ จ.นราธิวาส เพียงร้อยละ 4 และสังเกตได้เพียงบางพื้นที่เท่านั้น ได้แก่ 9 จังหวัดในภาคใต้ (นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล สงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช กระบี่) และบางส่วนของจังหวัดตราด อุบลราชธานี และ ศรีสะเกษ
แต่ละพื้นที่ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดไม่เท่ากัน แนะชมผ่านอุปกรณ์กรองแสง ห้ามดูด้วยตาเปล่า หรือแว่นกันแดดโดยเด็ดขาด
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ในวันที่ 20 เม.ย. ปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบผสม (สุริยุปราคาวงแหวนและเต็มดวง) เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 52/80 ชุดซารอสที่ 129 แนวคราสจะเคลื่อนจากมหาสมุทรอินเดียไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนใหญ่พาดผ่านมหาสมุทร และแผ่นดินบางส่วนที่เป็นเกาะใหญ่ ๆ อาทิ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศติมอร์ตะวันออก และประเทศอินโดนีเซีย (เกาะปาปัวและปาปัวตะวันตก) ตั้งแต่เวลา 09.42 - 12.52 น. (ตามเวลาประเทศไทย) การเกิดคราสครั้งนี้ ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังนานที่สุดเพียง 1.16 นาที
สำหรับประเทศไทยจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 10.22 - 11.43 น. สังเกตได้ใน 9 จังหวัดภาคใต้ แต่ละพื้นที่ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดไม่เท่ากัน ดังนี้
- นราธิวาส (ร้อยละ 4.06)
- ยะลา (ร้อยละ 3.22)
- ปัตตานี (ร้อยละ 2.82)
- สตูล (ร้อยละ 1.77)
- สงขลา (ร้อยละ 1.77)
- พัทลุง (ร้อยละ 0.93)
- ตรัง (ร้อยละ 0.61)
- นครศรีธรรมราช (ร้อยละ 0.32)
- กระบี่ (ร้อยละ 0.01)
- บางส่วนของ จ.ตราด (ร้อยละ 0.02)
- อุบลราชธานี (ร้อยละ 0.1)
- ศรีสะเกษ (ร้อยละ 0.01)
นายศุภฤกษ์ กล่าวว่า “สุริยุปราคา” เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนเข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ อาจบังทั้งดวงหรือบางส่วนก็ได้
“สุริยุปราคาแบบผสม” เป็นสุริยุปราคาที่เกิดขึ้น 2 ประเภทในครั้งเดียว ได้แก่ สุริยุปราคาวงแหวน และสุริยุปราคาเต็มดวง เนื่องจากโลกมีผิวโค้ง ทำให้แต่ละตำแหน่งบนโลกมีระยะห่างถึงดวงจันทร์ไม่เท่ากัน ผู้สังเกตที่อยู่ไกลจากดวงจันทร์จะเห็นเป็นสุริยุปราคาวงแหวน ในขณะที่ผู้สังเกตที่อยู่ใกล้ดวงจันทร์มากกว่าจะเห็นเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง
สำหรับ “สุริยุปราคาบางส่วน” เกิดจากโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ไม่ได้เรียงอยู่ในแนวเดียวกันพอดี ขณะเกิดสุริยุปราคา ดวงจันทร์จึงบดบังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วน ทำให้มีเพียงเงามัวของดวงจันทร์ทอดผ่านพื้นผิวโลก ผู้สังเกตบนโลกภายในบริเวณที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่านจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบังเพียงบางส่วนเท่านั้น
ชมปรากฏการณ์ ห้ามสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่า
นายศุภฤกษ์ กล่าวย้ำสำหรับผู้สนใจชมปรากฏการณ์ในครั้งนี้ ห้ามสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่า แว่นกันแดด ฟิล์มเอ็กซ์เรย์ หรือแผ่นซีดี เนื่องจากแสงอาทิตย์สามารถทะลุผ่านและทำลายเซลส์ประสาทตาจนตาบอดได้ ควรสังเกตการณ์ผ่านอุปกรณ์เฉพาะ ที่มีคุณสมบัติกรองแสงได้อย่างปลอดภัย อาทิ แว่นตาดูดวงอาทิตย์ทำจากแผ่นกรองแสงพอลิเมอร์ดำ แผ่นกรองแสงอะลูมิเนียมไมลาร์ กระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะเบอร์ 14 หรือมากกว่า และอุปกรณ์สังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ทางอ้อม เช่น การดูเงาของแสงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพ หรือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม ซึ่งเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยไม่เกิดอันตรายต่อดวงตา และยังสามารถดูปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทีละหลายคน
หากสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ต้องเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ติดฟิลเตอร์กรองแสงดวงอาทิตย์เท่านั้น เนื่องจากกล้องโทรทรรศน์มีเลนส์รวมแสงทำให้แสงอาทิตย์ทวีกำลังมากขึ้น เป็นอันตรายอย่างยิ่งแก่ดวงตา
สดร.ตั้งจุดสังเกตการณ์ "ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย" ในวันที่ 20 เม.ย.2566 ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา 09.00-12.00 น. (ช่วงเวลาเกิดปรากฏการณ์ 10.31-11.33 น.) จะเห็นดวงอาทิตย์ปรากฏเว้าแหว่งมากที่สุดร้อยละ 1.82 (เวลาประมาณ 11.01 น.) โดยจัดเตรียมอุปกรณ์ดูดวงอาทิตย์ไว้บริการประชาชน ผู้สนใจเข้าร่วมฟรี
อ่านข่าวอื่นๆ :
นักวิทย์พบหลักฐานว่า มนุษย์เสพยาฯ มานานกว่า 3,000 ปีแล้ว
เจาะลึกประวัตินักบินอวกาศ 4 คน ที่จะเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ ในรอบ 52 ปี