พลเทพ ธนโกเศศ ผู้ช่วยเลขานุการ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข กล่าวระหว่างการพบปะกับสื่อมวลชนของคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย ที่ จ.ปัตตานี วันนี้ว่า ได้ยื่นการยกร่างการจัดทำรายละเอียดในการทำแผน ผ่านทางคณะผู้อำนวยความสะดวกฝ่ายมาเลเซีย ไปยังกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยมีรายละเอียดตามประเด็นสารัตถะ 3 ประเด็น คือ การลดความรุนแรง การปรึกษาหารือในพื้นที่ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง
ประเด็นที่ 1 เกี่ยวกับการลดความรุนแรง ได้เสนอรายละเอียดว่า จะต้องมีการจัดกิจกรรมอะไรบ้างที่แต่ละฝ่ายต้องทำ ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไร ต้องมีกลไกในการติดตามสถานการณ์แบบใด ใครมีส่วนร่วมบ้าง และการกำหนดกรอบระยะเวลา
ประเด็นที่ 2 การปรึกษาหารือในพื้นที่ คือจะมีการเปิดพื้นที่รับความคิดเห็นของประชาชน ทุกด้าน โดยเฉพาะใน 5 เรื่องสำคัญ คือ การยอมรับอัตลักษณ์ชุมชนปาตานี สิทธิมนุษยชน การศึกษา เศรษฐกิจและการพัฒนาพื้นที่ และรูปแบบการบริหารพื้นที่
ส่วนประเด็นที่ 3 การแสวงหาทางออกทางการเมือง จะต้องมีการกำหนดรายละเอียดว่าจะมีรูปแบบในการปรึกษาหารืออย่างไร กลุ่มเป้าหมาย กลไกขับเคลื่อนในการปรึกษาหารือ ขั้นตอนต่าง ๆ และกรอบระยะเวลา
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสนับสนุนการพูดคุยสันติสุข เช่น การให้ความปลอดภัยกับผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุย การปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังตามกระบวนการกฎหมาย การกลับคืนสู่ชีวิตปกติของผู้ที่เคยก่อเหตุรุนแรง และการกำหนดกรอบระยะเวลา
โดยหวังว่า จะสามารถจัดทำร่างรายละเอียดให้แล้วเสร็จในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเดือนมิถุนายน ปีนี้ และขั้นที่ 2 คาดว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติได้ในเดือน กรกฎาคม ปี 2566 ถึง เดือนธันวาคมปี 2567
ด้าน พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย ยังเชื่อมั่นว่า หาทั้งสองฝ่ายได้เดินตามกรอบเวลาไปตามแผนที่วางไว้ การพูดคุยจะก้าวหน้า และจำเป็นที่จะต้องสื่อสารกับคนในพื้นที่ให้เข้าใจกระบวนการสันติภาพมากขึ้น
การที่บีอาร์เอ็นไม่ได้มาร่วม อาจเพราะช่วงเดือนถือศีลอดด้วย แต่ที่เราเสนอไป ถ้าเราสามารถพูดคุยกันก่อนได้ ก็จะทำให้กระบวนการต่าง ๆ มันเร็วขึ้น ไม่ต้องมาแลกกันตรงบนโต๊ะ ก็สามารถพิจารณาก่อนได้เลย นี่ก็เป็นสิ่งที่เราคาดหวัง เราก็หวังว่าทางฝ่ายมาเลเซีย ที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก นำทั้งสองฝายมาพูดคุยกันได้ในช่วงพฤษภาคมนี้
นอกจากนี้ พล.อ.วัลลภ ยังมั่นใจว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย หลังการเลือกตั้ง แต่จะไม่กระทบต่อกระบวนการพูดคุย เพราะเป็นวาระแห่งชาติแล้ว รวมถึงกระแสข่าวที่จะมีการเปลี่ยนตัวของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน ก็ไม่กังวลว่าจะกระทบ เพราะทั้งสองฝ่ายพยายามอย่างเต็มที่ที่จะแก้ปัญหานี้
ขณะที่ พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะพูดคุยชี้แจงว่า ในเดือนถือศีลอดที่ผ่านมา แม้ทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีข้อตกลงหยุดยิงระหว่างการจัดทำแผน แต่ทางกองทัพภาคที่ 4 ก็มีแนวทางที่จะไม่ใช้ความรุนแรง หรือการบังคับใช้กฎหมาย โดยในเดือนที่ผ่านมามีแค่เหตุการณ์เดียวในการบังคับใช้กฎหมายที่ จ.ปัตตานี แต่พบว่า มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นมากกว่าปีอื่น ๆ หรือกว่า 30 ครั้ง
สิ่งที่เราได้ดำเนินการเป็นนโยบายของกองทัพ เราใช้ความอดทนอดกลั้นมาตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีเหตุรุนแรง เราไม่ได้ใช้มาตรการบังคับใช้โดยกฎหมายใดใดเลย ยกเว้นที่จังหวัดปัตตานีครั้งเดียว ที่ได้เข้าปิดล้อมเมื่อวานนี้ เพราะมีเป้าหมายค่อนข้างชัด
นอกจากนี้ พล.ต.ปราโมทย์ ย้ำว่า กองทัพภาคที่ 4 พยายามอย่างเต็มที่ที่จะสร้างบรรยากาศในพื้นที่ให้เอื้อต่อการพูดคุยสันติสุข ตั้งแต่การเริ่มลดกำลังทหารหลักไปกว่า 12,000 นาย ในช่วงปี 2559 ถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม วันนี้ ซึ่งเป็นวันที่สำนักจุฬาราชมนตรี กำหนดให้มีการดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันสิ้นสุดเดือนถือศีลอด หรือ ฮารีรายอ ยังคงเกิดเหตุรุนแรงต่อเนื่อง โดยได้เกิดเหตุลอบวางระเบิดในอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ทำให้ ส.ต.ต.นันทยศ ชูดวง เสียชีวิต และส.ต.ต.รามวรุฒ โอกาศ ได้รับบาดเจ็บ
เรียบเรียง : ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวภาคใต้