ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สัมภาษณ์พิเศษ วราภรณ์ แช่มสนิท : สัญญาณบอกเหตุ ความรุนแรงระหว่างคู่รัก

สังคม
22 เม.ย. 66
17:51
645
Logo Thai PBS
สัมภาษณ์พิเศษ วราภรณ์ แช่มสนิท : สัญญาณบอกเหตุ ความรุนแรงระหว่างคู่รัก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ในความสัมพันธ์ของคู่รัก ไม่ว่าจะเป็นสามีภรรยา หรือแฟน หากเกิดปัญหา ที่เริ่มมีสัญญาณว่าอาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง มีสิ่งที่สังเกตได้ เพื่อให้ฝ่ายที่ถูกกระทำ ได้เริ่มตั้งหลัก คิดถึงการเดินหน้าความสัมพันธ์ต่อไป

ขณะเดียวกันสังคมมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยการแสดงออกถึงการไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ

ไทยพีบีเอสสัมภาษณ์ วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ระบุว่า UN Women สำรวจสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงในประเทศต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงจากคู่รักหรือความรุนแรงทางเพศจากคนที่ไม่ใช่คู่รัก

พบว่า ผู้หญิงที่ถูกใช้ความรุนแรงมากที่สุดจะเป็นกลุ่มช่วงอายุระหว่าง 19-25 ปี ถัดมาเป็นช่วงอายุ 26- 35 ปี อายุที่ไม่มาก อาจจะขัดกับความเข้าใจของคนในสังคมที่มองว่า ความรุนแรงของคู่รัก หมายถึงคู่ชีวิตที่อยู่ในช่วงวัยกลางคนขึ้นไป แต่คู่รักที่อายุยังน้อยมีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกใช้ความรุนแรงมากกว่า

สัญญาณบอกเหตุ

วราภรณ์ ระบุว่า มีงานวิจัยวงจรความรุนแรงในชีวิตคู่ มักจะมีสัญญาณเตือน เช่น การควบคุมบังคับไม่ให้ทำสิ่งต่าง ๆ เช่น การแต่งตัว การคบเพื่อน การสื่อสารกับเพื่อน หรือควบคุมการทำกิจกรรมทางสังคม บางรายควบคุมทางการเงิน การแสดงความหึงหวงเกินขอบเขต รวมไปถึงการข่มขู่ทำร้ายร่างกาย

และเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงในครั้งแรกๆ ผู้ถูกกระทำความรุนแรงจำนวนไม่น้อย ตัดสินใจที่จะไม่บอกคนรอบข้าง ว่าตัวเองถูกกระทำ เพราะคาดหวังว่า เหตุการณ์จะหยุดอยู่แค่นี้ มีงานวิจัยเรื่อง “วงจรของความรุนแรงในชีวิตคู่ เมื่อเกิดการใช้ความรุนแรงขึ้นแล้ว จะมีแนวโน้มเกิดซ้ำ และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น”

ช่วงฮันนีมูนสู่ความรุนแรง

ก่อนเกิดเหตุความรุนแรง วราภรณ์ ระบุว่า จากงานวิจัยจะพบว่า มีช่วงของความตึงเครียด ใช้วาจา ด่า ข่มขู่ เมื่อไม่พอใจจะโมโห แต่ยังไม่ถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ต่อมาพัฒนาไปถึงขั้นกระทำความรุนแรงทำร้ายด้วยกำลังหรืออาวุธ คู่รักที่เกิดจากความรุนแรงเหล่านี้ จำนวนมากจะก้าวไปสู่วงจรของความรุนแรง เรียกว่าช่วงฮันนีมูนหรือช่วงขอโทษ

ผู้กระทำจะแสดงออกว่า ตัวเองสำนึกผิด ขอโทษผู้ถูกกระทำ สัญญาว่าจะไม่ทำอีก อาจจะปลอบใจพาไปเที่ยว พาไปกินอาหารซื้อของขวัญให้ ทำให้ฝ่ายผู้ถูกกระทำเกิดความสับสน เมื่อเจอพฤติกรรมแบบนี้ จึงให้อภัย คิดว่าอีกฝ่ายน่าจะปรับหรือหยุดพฤติกรรมการกระทำความรุนแรงได้ จึงคงอยู่ในความสัมพันธ์

การออกจากความสัมพันธ์

เมื่อถูกทำร้ายร่างกาย การก้าวออกจากความสัมพันธ์นั้นไม่ง่าย วราภรณ์ ระบุว่า หากเป็นครอบครัวที่มีลูกจะกลัวสังคมตำหนิว่าครอบครัวไม่สมบูรณ์ ส่วนคู่รักอายุไม่มาก ไม่ได้อยู่กินกันในลักษณะสามีภรรยา แต่มีการใช้ความรุนแรง

การตัดสินใจออกจากความรุนแรงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเช่นกัน เพราะอาจจะอยู่ในวังวนของวงจรความรุนแรง เมื่อถูกทำร้าย ผู้ถูกกระทำจะให้ โอกาสอีกครั้ง ทำให้รู้สึกสับสน เมื่อถูกกระทำซ้ำ ๆ จะมีผลต่อสภาพจิตใจ

ต้องอยู่ในวงจรนี้ ไม่มีใครช่วยเหลือ หลายคนถูกข่มขู่จากผู้กระทำไม่ให้บอกใคร หากบอกจะโดนหนักหรือถูกขู่ฆ่า ทำให้ก้าวออกจากความสัมพันธ์ได้ยาก ส่วนหนึ่งอับอาย เพราะผู้หญิงที่ถูกทำร้าย สังคมตั้งคำถาม ว่าไปทำอะไรมาถึงโดนแบบนี้ มันเป็นการกล่าวโทษ เธอนั่นแหละเป็นสาเหตุของความรุนแรง ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าเปิดเผย

เปิดเผยว่าถูกกระทำความรุนแรงแต่ไม่มีใครช่วย

ผู้หญิงหลายคนออกมาเปิดเผยแล้วแต่ไม่มีใครช่วยได้ วราภรณ์ ระบุว่า ไม่ว่าเขาจะเปิดเผยผ่านโซเชียลมีเดียหรือคนใกล้ชิด หรือสมาชิกครอบครัวของฝ่ายผู้ที่กระทำรับทราบเรื่องราว แต่ไม่ได้หยุดยั้ง ผู้หญิงหลายคนเห็นว่าบอกไปก็ไม่มีใครช่วยได้ รวมทั้งเมื่อแจ้งความดำเนินคดี กฎหมายในประเทศไทยยังไม่ได้คุ้มครอง โดยเฉพาะกรณีความรุนแรงแบบคู่รักอายุน้อย

กฎหมายยังไม่คุ้มครองคู่รักอายุน้อยถูกทำร้ายร่างกาย

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 จะคุ้มครองความสัมพันธ์แบบสามีภรรยาทั้งจดทะเบียนและไม่จดทะเบียนสมรส หรือเป็นอดีตสามีภรรยา วราภรณ์ ระบุว่า ผู้บังคับใช้กฎหมายบางคน ตีความว่ากรณีที่เป็นคู่รักอายุน้อย วัยรุ่นวัยเรียนอายุไม่มาก ยังไม่ได้ถูกเปิดเผยให้ครอบครัวของแต่ละคนรับทราบ

ผู้บังคับใช้กฎหมายก็อาจจะตีความว่า ไม่ได้อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยา จะใช้กฎหมายคุ้มครองความรุนแรงในครอบครัวฉบับนี้ไม่ได้

คนที่อายุน้อยถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้น มีการใช้อาวุธปืน รวมไปถึงถูกทำให้เสียชีวิต มาตรการสำคัญคือการป้องกัน

ผลเสียหากไม่ใช้กฎหมายความรุนแรงในครอบครัว

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 วราภรณ์ ระบุว่า เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น กระบวนการทางกฎหมายสามารถเข้ามาช่วยได้ โดยทำข้อตกลงระหว่างคู่กรณี ผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำสามารถตั้งเงื่อนไขได้ เช่น ระหว่างนี้ที่มีความเสี่ยงจะเกิดการทำร้ายซ้ำ ห้ามผู้กระทำใกล้ชิดกับผู้ถูกกระทำ สามารถกำหนดระยะเวลาได้ หรือการใช้ยาเสพติดสามารถให้อีกฝ่ายไปบำบัดยาเสพติด

หรือกรณีมีอาวุธปืนก็สามารถตั้งเงื่อนไขได้ ห้ามยุ่งเกี่ยวกับอาวุธปืน หรือการให้ออกจากที่พักแยกกันอยู่ จนกว่าจะคืนความสัมพันธ์กันได้ หากมีการทำร้ายร่างกายซ้ำ กฎหมายจะดำเนินการตามขั้นต่อไป เอาผิดส่งสำนวนขึ้นสู่ศาลเป็นกระบวนการที่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวใช้คุ้มครองความรุนแรง

กฎหมายเขียนว่าเป็นสามีภรรยา ผู้ที่อยู่กินฉันสามีภรรยา หลายๆ ครั้งคู่รักอายุน้อย มีการใช้ความรุนแรงกัน จะไม่ได้รับการคุ้มครองดูแล ต้องเผชิญปัญหาอย่างโดดเดี่ยว บางคนทนไม่ไหวออกมาเปิดเผยกับเพื่อนหรือในที่สาธารณะอย่างโซเชียลมีเดีย แต่ไม่มีการดำเนินการใด ๆ ช่วยคุ้มครองเขาไม่ให้ตกอยู่ในความเสี่ยง

ให้ความรู้กับกลุ่มเสี่ยง

วราภรณ์ ระบุว่า การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุความรุนแรงของคู่รักอายุน้อย คือควรบอกข้อมูล ทำให้เขามีความพร้อมรับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต รวมทั้งระบบโรงเรียน ควรเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนเข้าใจว่า สังคมมีโอกาสเกิดความรุนแรงในครอบครัว

ไม่ว่าความสัมพันธ์แบบครอบครัว แบบแฟน แบบคู่รัก ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ควรคาดหวังว่าเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงขึ้นครั้งแรกแล้ว ความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้นอีก แต่จะเกิดซ้ำและมีแนวโน้มร้ายแรงยิ่งขึ้น

สิ่งที่จะป้องกันได้ คือการสอนเด็ก ให้ต้องเคารพคนอื่น การทำร้ายคนอื่นเป็นเรื่องที่สังคมไม่ยอมรับ ส่วนฝั่งที่มีความเสี่ยงถูกกระทำความรุนแรง ต้องสอนว่า รับมือยังไง มีสัญญาณอะไรบ้างที่จะสังเกตได้ว่าความสัมพันธ์มันไม่ดีแล้ว มีแนวโน้วไปสู่ความรุนแรง ต้องสอนให้รู้ตั้งแต่ต้น ไม่ใช่รอให้เกิดเหตุการณ์

วิภา ปิ่นแก้ว รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง