ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้ง2566 : วิเคราะห์ “ติยะไพรัช” กระจายความเสี่ยง 2 พรรค

การเมือง
2 พ.ค. 66
12:18
2,489
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566 : วิเคราะห์ “ติยะไพรัช” กระจายความเสี่ยง 2 พรรค
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไม่ว่าอย่างไร ตระกูลดัง “ติยะไพรัช” ของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ยังมีบทบาทและน่าจับตาเสมอ แม้จะมีเรื่องราวทางการเมืองมากมายเกิดขึ้น ทั้งกับนายยงยุทธ และคนในตระกูล

ตั้งแต่นายยงยุทธ โดนใบแดง หลังการเลือกตั้ง ปี 2550 ต้องพ้นจากทั้ง ส.ส.และประธานสภาผู้แทนฯ มิหนำซ้ำถูกตัดสิทธิ์การเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากกรณีพรรคพลังประชาชนถูกยุบ

ยังไม่นับรวมกรณีได้รับฉายา “ยุทธตู้เย็น” ที่ได้รับจากสื่อเมื่อปี 2547 หลังตำรวจคอมมานโด นำกำลังเข้าปิดล้อมบ้านของ 2 สามีภรรยาสูงวัยตระกูล “ศตะกูรมะ” ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยได้ข้อมูลจากนายยงยุทธ ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นแหล่งผลิตและค้ายาบ้า

ก่อนเปิดฉากยิงถล่ม จนบ้านหลังดังกล่าวเสียหายอย่างหนัก รวมทั้งตู้เย็น ที่ตั้งอยู่ภายในบ้าน มีรูกระสุนกว่า 50 นัด และต่อมา หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เขาถูกคำสั่งคณะรัฐประหารให้ไปรายงานตัว พร้อมกับนายเนวิน ชิดชอบ ในฐานะคนใกล้ชิดและสายตรงคนแดนไกล

ขณะที่ภรรยา นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ถูกศาลฎีกาตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี หลังถูกร้องเรียนว่ามีการแจกอุปกรณ์เครื่องเล่นเด็ก ขณะหาเสียงเลือกตั้ง นายก อบจ.ที่เธอเป็นฝ่ายชนะ แต่ได้ไปต่อ

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อนางบุษริณธญ์ วรพัฒนานันท์ อดีต ส.ว.เชียงราย พี่สาวนายยงยุทธ ลงสมัครนายก อบจ.เพื่อรักษาเก้าอี้แทน ในปี 2557 และสามารถเอาชนะนางรัตนา จงสุทธนามณี นักการเมืองชื่อดังจากตระกูลใหญ่ของ จ.เชียงรายอีกคน แต่ถูกร้องเรียนอีกเช่นเดียวกัน

ก่อนที่ต่อมา ในการเลือกตั้งปี 2562 ลูกชาย นายมิตติ ติยะไพรัช ประธานสโมสรฟุตบอลสิงห์เชียงรายยูไนเต็ด เข้าสู่สนามการเมืองระดับชาติ ในฐานะเลขาธิการพรรคไทยรักษาชาติ ก็ถูกตัดสิทธิการเมือง 10 ปี หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ก่อนวันเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน

แต่กระนั้น คนในตระกูล “ติยะไพรัช” ก็ไม่ได้หายไปจากสาระบบการเมือง โดยในระดับชาติ น.ส.ละออง ติยะไพรัช น้องสาวนายยงยุทธ เป็นอดีต ส.ส.เชียงราย อย่างเหนียวแน่นมา 4 สมัย สังกัดพรรคเพื่อไทย แต่เลือกตั้งครั้งนี้ ส่งลูกสาวนายยงยุทธ ลงสมัครเขต 2 แทน คือ น.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ซึ่งเป็นอดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ

ไม่เพียงเท่านั้น ลูกสาวนายยงยุทธอีกคน คือ น.ส.ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช ยังขึ้นแท่นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อชาติอีกคน ซึ่งเป็นพรรคที่นายยงยุทธ เคยช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งปี 2562

แม้ว่าการแข่งขันชิง ส.ส.7 เขตของ จ.เชียงราย จะยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นไปอีกในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะนอกจากพรรคเพื่อไทย หากหวังแลนด์สไลด์ทั้งจังหวัด ต้องเจอศึกใหญ่อย่างน้อย 3 เขตเลือกตั้ง ทั้งในเขตที่พรรคอนาคตใหม่ เคยแย่งเก้าอี้ส.ส.ได้ในการเลือกตั้งปี 2562

แต่ปัจจุบัน ย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย ขณะที่ในอีก 1 เขตเลือกตั้ง เป็นอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยเอง ที่ย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทยอีกคน คือนายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ทายาทจาก “บ้านใหญ่” อีกหนึ่งหลังของ จ.เชียงราย

ท้าทายศักยภาพและความสามารถของพรรคเพื่อไทย และนายยงยุทธอย่างปฏิเสธไม่ได้

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้ง2566 : "อนุทิน" เหน็บ "เศรษฐา" ไร้ประสบการณ์เวทีการเมือง

เลือกตั้ง2566 : "เพื่อไทย" งัดกลยุทธ์หาเสียงตามสี่แยก ดึงคะแนนเสียงคนกรุง

เลือกตั้ง2566 : วิเคราะห์ 3 เขต เพชรบุรี ชี้ชะตา “อังกินันทน์” บ้านใหญ่ในอดีต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง