แม้กรณีของ "แอม" คดีวางยาไซยาไนด์ยังไม่ถึงที่สุด แต่ก็มีคำถามไปถึงการรับโทษ หากมีความผิดและต้องโทษสูงสุดประหารชีวิต เพราะเธออยู่ระหว่างการตั้งครรภ์
วันนี้ (3 พ.ค.2566) นายอายุตม์ สินธพพันธ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า กรณีผู้ต้องขังตั้งครรภ์ระหว่างการรับโทษ ยึดหลักสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายหญิงใดต้องโทษประหารชีวิต ถ้ามีครรภ์อยู่ ให้รอไว้จนพ้นกำหนด 3 ปีนับแต่คลอดบุตร โดยผู้ต้องขังหญิงจะได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ที่เหมาะสม สามารถฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลในท้องที่ที่สถานกักขังตั้งอยู่
และพิจารณาอนุญาตให้ออกไปคลอดตามความจำเป็น และเมื่อคลอดแล้วให้พักรักษาตัวไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันคลอด แต่ถ้าจำเป็นต้องพักรักษา ตัวนานกว่านี้ ให้เสนอความเห็นแพทย์ทำคลอด เพื่อขออนุญาตเรือนจำ
นอกจากนี้เรือนจำ จัดให้ผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ได้รับคำแนะนำด้านสุขภาพและโภชนาการ จัดอาหารให้เพียงพอให้เหมาะสม กับผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ ทารก เด็ก และแม่ที่ให้นมบุตร ต้องไม่ขัดขวางการให้นมและการดูแลบุตร เว้นแต่มีปัญหาด้านสุขภาพ
ในช่วง 3 ปีถ้ามีผู้อุปการะเช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้องสามารถนำบุตรไปดูแลต่อ แต่ถ้าไม่มีก็จะส่งให้ศูนย์เด็กเล็กดูแล เพราะไม่อยากให้เด็กจำความได้ในเรือนจำ ผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ จะดูแล ฝากครรภ์จนถึงจะคลอด จะส่งไปคลอดที่โรงพยาบาล
กรมราชทัณฑ์ รวบรวมสถิตินักโทษประหารชีวิต มีทั้งหมด 262 คน เป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาอุทธรณ์ 206 คน ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาฎีกา 31 คน และนักโทษเด็ดขาดเมื่อคดีถึงที่สุด 26 คน
รวมอดีต ผอ.กอล์ฟ ที่ศาลฎีกาพิพากษาประหารชีวิต ขณะนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำกลางบางขวาง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สั่งออกราชการไว้ก่อน "รอง ผกก." อดีตสามี - ออกหมายจับแอม 14 คดี
"พ.ต.ท." อดีตสามี "แอม" มอบตัว ตร.นครปฐม