ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ประเมินเท่านั้น" สรรพากรแจงดรามา "เก็บภาษีเดินทางต่างประเทศ"

เศรษฐกิจ
8 พ.ค. 66
08:09
550
Logo Thai PBS
"ประเมินเท่านั้น" สรรพากรแจงดรามา "เก็บภาษีเดินทางต่างประเทศ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง หลังกรมสรรพากร เปิดรับฟังความเห็น กฎหมายการเก็บภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ปี พ.ศ. 2526 จนทำให้ล่าสุดต้องออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้เตรียมที่จะมีการจัดเก็บ ตามที่มีหลายฝ่ายเข้าใจ

การเดินทางออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงนี้ อาจเป็นสิ่งที่หลายคนรอคอย หลังปิดประเทศมานานกว่า 3 ปีจากสถาการณ์โควิด-19 ทำให้บรรยากาศตามสนามบินคึกคัก และมีผู้มาใช้บริการหนาแน่น

แต่ช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา กลับมาข้อมูลปรากฎในสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้นักเดินทางหลายคนกังวล โดยข้อมูลดังกล่าวระบุว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชกำหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2526 ทำให้หลายคนตีความว่า กรมสรรพากรกำลังมีแนวคิดที่จะเก็บภาษีไปต่างประเทศ ซึ่งที่หลายคนเป็นห่วงคืออัตราภาษี

เพราะอัตราภาษี ตามกฎหมายที่ออกมาเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ได้กําหนดอัตราภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไว้ไม่เกินครั้งละ 5,000 บาท ตามมาตรา 8 แต่ได้มีการออกกฎกระทรวง กําหนดอัตราภาษีการเดินทางโดยทางอากาศครั้งละ 1,000 บาท และการเดินทางโดยทางบกหรือทางน้ำครั้งละ 500 บาท

อ่านข่าวอื่นๆ : ทุบสถิติ! เวียดนามร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุดในรอบ 4 ปี

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2566 นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากรได้ออกหนังสือชี้แจง ถึงกรณีดังกล่าวแล้ว

ยอมรับว่า ทางกรมฯ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ จาก พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการตรวจสอบความเหมาะสมของเนื้อหาของกฎหมายเท่านั้น

โดยเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2564 ไม่ได้เป็นการเตรียมที่จะจัดเก็บภาษีแต่อย่างใด ถึงแม้กฎหมายดังกล่าวจะไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2534 อ้างอิงกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

แต่ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 ยังกำหนดให้กรมสรรพากรยังคงมีหน้าที่ที่ต้องดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย โดยการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในระบบกลางตามมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว

อ่านข่าวอื่นๆ : เปิดเมนูพิธีบรมราชาภิเษก "สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง