ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เพิ่มรายได้-ลดโลกร้อน กับสวนยาง "คาร์บอนเครดิต"

เศรษฐกิจ
8 พ.ค. 66
13:47
4,340
Logo Thai PBS
เพิ่มรายได้-ลดโลกร้อน กับสวนยาง "คาร์บอนเครดิต"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"การยางแห่งประเทศไทย" เป็น 1 ในหน่วยงานดำเนินโครงการลดโลกร้อนผ่าน "การทำสวนยาง แปลงเป็นคาร์บอนเครดิต" รณรงค์ลดโลกร้อน เลี่ยงภาวะ Monster Asian Heatwave ที่ทำให้อุณหภูมิของหลายประเทศสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

วันนี้ (8 พ.ค.2566) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ระบุว่า "ยางพารา" เก็บกักและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี ดังนั้น นอกจากผู้ปลูกยางพาราจะสร้างรายได้จากการขายยางพาราแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตอีกด้วย

ปัจจุบันมีพืชเกษตรหลายชนิดที่ถูกนำมาประเมินหาปริมาณการสะสมคาร์บอนไดออกไซด์ ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ทุเรียน ลำไย และไม้ยืนต้นอื่นๆ โดย "ยางพารา" เป็นพืชเกษตรที่มีศักยภาพสูงในการกักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

อ่านข่าวอื่นๆ : "จู้หรง" รถสำรวจของจีน พบร่องรอยน้ำบนดาวอังคาร เมื่อ 4 แสนปีที่แล้ว

ปีที่แล้ว กยท. จึงได้จัดทำโครงการนำร่องในพื้นที่สวนยางที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กยท. จำนวน 6,800 ไร่ ส่วนปีนี้จะขยายไปยังพื้นที่ของเกษตรกรอีก 50,000 ไร่ และกระจายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลาง และ ภาคใต้ ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราหลายคนก็มีความเข้าใจเรื่องของ "คาร์บอนเครดิต" ดีขึ้น

การยางแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าจะขยายพื้นที่การดำเนินโครงการดังกล่าว ให้ครอบคลุมพื้นที่สวนยางพาราทั่วประเทศ เบื้องต้น ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะขยายพื้นที่ให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านไร่ หรือ ครึ่งหนึ่งของผู้ที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.

ปัจจุบัน การขายคาร์บอนเครดิต เป็นภาคสมัครใจ ซึ่งมีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราหลายคน เริ่มขายคาร์บอนเครดิตแล้ว จากข้อมูลการศึกษา ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า

ช่วงอายุยางพารา ที่กักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากที่สุด หรือ เฉลี่ย 1.34 ตัน/ไร่/ปี คือ อายุ 6-10 ปี รองลงมา คืออายุ 11-15 ปี ซึ่งกักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 1.21 ตัน/ไร่/ปี

Carbon Credit

Carbon Credit

Carbon Credit

สำหรับ "คาร์บอนเครดิต" ถูกสร้างขึ้นโดยกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เช่น การปลูกต้นไม้ โดยจะนำความสูง เส้นรอบวง และพันธุ์ของต้นไม้ ไปคำนวณการดูดซับก๊าซเรือนกระจก และ แปลงออกมาเป็นคาร์บอนเครดิต

ขณะที่ เป้าหมายของคาร์บอนเครดิต จะมุ่งเน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรมให้คำนึงถึงมลพิษ หรือ ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา พร้อมกับให้ตั้งเป้าการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกๆ ปี

อ่านข่าวอื่นๆ : 8 พ.ค. วันกาชาดสากล ระลึกถึง "อังรี ดูนังต์"

ในเชิงกลไกตลาด บริษัทที่ไม่ปรับตัวก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น ถ้าหากปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินเกณฑ์ แต่หากบริษัทใดปรับตัวได้ดี ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย ก็สามารถนำคาร์บอนเครดิตไปขายให้กับบริษัทที่ต้องการได้อีกด้วย ทั้งนี้ ในปี 2565 ราคาขายคาร์บอนเครดิต อยู่ที่ 120.3 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะที่ปี 2561 อยู่ที่ 21.37 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เท่านั้น

ส่วนในปี2566 นี้ ราคาขายคาร์บอนเครดิต ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น "คาร์บอนเครดิต" ไม่ได้สร้างรายได้ให้คนขายเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของโลกยุคปัจจุบัน ที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสีเขียว

ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือทางรอดของประชากรโลก ที่กำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตสภาพอากาศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง