ทีมนักวิจัยจากสิงคโปร์ได้พัฒนาไฟ LED ที่เล็กที่สุดในโลก ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าความยาวของคลื่นแสง แต่ให้ความเข้มของแสงที่มากกว่าไฟ LED ขนาดใหญ่ ความสำเร็จนี้นำไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ เกี่ยวกับการสร้างและควบคุมแสงในอุปกรณ์ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การสร้างกล้องจุลทรรศน์โฮโลกราฟิกที่เล็กที่สุดในโลก
นักวิจัยได้ใส่ไฟ LED ลงในกล้องจุลทรรศน์โฮโลกราฟิกแบบไร้เลนส์ที่มีขนาดเล็กกว่ากล้องจุลทรรศน์ทั่วไป ซึ่งถูกเสริมด้วยอัลกอริทึมโครงข่ายประสาทที่เลียนแบบเครือข่ายของสมองมนุษย์ กล้องจุลทรรศน์แบบใหม่นี้จึงมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา อีกทั้งยังให้ภาพความละเอียดสูงกว่ากล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงทั่วไป สามารถใช้ส่องดูเซลล์และแบคทีเรีย รวมถึงสามารถใช้วินิจฉัยเนื้อเยื่อที่ละเอียดมากขึ้นในแบบที่กล้องขนาดใหญ่ไม่สามารถทำได้
ด้วยหลักการเดียวกับการผลิตกล้องจุลทรรศน์โฮโลกราฟิก จึงเกิดเป็นแนวคิดที่สามารถทำให้กล้องในโทรศัพท์มือถือสามารถแปลงเป็นกล้องจุลทรรศน์ความละเอียดสูงได้ โดยการใช้ไฟ LED จิ๋วรวมกับการดัดแปลงชิปและซอฟต์แวร์ของโทรศัพท์ ซึ่งช่วยให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากกล้องจุลทรรศน์มือถือแบบพกพาได้มากขึ้น
นักวิจัยเล็งเห็นว่าไฟ LED ขนาดเล็ก และโครงข่ายประสาทเทียมนี้ สามารถนำมาใช้ในการถ่ายภาพด้วยคอมพิวเตอร์อื่น ๆ นอกจากการสร้างกล้องจุลทรรศน์ขนาดเล็ก นวัตกรรมนี้ยังสามารถช่วยให้เกษตรกรติดตามเซลล์ที่มีชีวิตหรือการถ่ายภาพของเนื้อเยื่อชีวภาพ รวมถึงการติดตามอนุภาค การตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม การวิเคราะห์โรคของพืช และการสร้างภาพตัวอย่างทางชีวภาพได้
ที่มาข้อมูล: interestingengineering, newatlas, MIT
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech