ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิทยาศาสตร์เตือนอุณหภูมิโลกจ่อเพิ่มขึ้น 1.5 องศาฯ ในปี 2027

ต่างประเทศ
18 พ.ค. 66
07:09
7,954
Logo Thai PBS
นักวิทยาศาสตร์เตือนอุณหภูมิโลกจ่อเพิ่มขึ้น 1.5 องศาฯ ในปี 2027
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิทยาศาสตร์จากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก คาดการณ์ว่า โลกจะมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ โดยมีโอกาสสูงถึง 66% ที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2027

วันนี้ (18 พ.ค.2566) องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ประเมินว่า ภายในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ โลกจะร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และจะร้อนในระดับนั้นอยู่อย่างน้อย 1 ปี ทำให้ระหว่างช่วงนี้มีโอกาสถึง 98% ที่ 1 ใน 5 ปีข้างหน้านี้ จะกลายเป็นช่วงเวลาที่โลกทำสถิติร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ หรืออาจจะเป็นช่วงเวลา 5 ปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น โดยคาดว่าระหว่างปี 2023 - 2027 อุณหภูมิใกล้ผิวโลกเฉลี่ยรายปีจะมากกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมระหว่าง 1.1 - 1.8 องศาเซลเซียส

ปัจจัยหลักที่ทำให้โอกาสการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้น มาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อไปในปีนี้

แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะประเมินว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นได้รวดเร็วเพียงใด และยังมีคำเตือนด้วยว่าต่อไปจะเกิดวงจรของห้วงเวลาที่โลกร้อนขึ้นแบบนี้ถี่ขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบันโลกมีสถิติอุณหภูมิที่สูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมแล้วราว 1.2 องศาเซลเซียส โดยใช้อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่างช่วงปี ค.ศ.1850 - 1900 เป็นมาตรวัด ซึ่งเป็นเวลาที่โลกของเรายังไม่ได้ก้าวเข้าสู่การพึ่งพิงพลังงานฟอสซิลอย่างเต็มตัวในเวลาต่อมา

ทำไมเพดาน 1.5 องศาเซลเซียสจึงสำคัญ

หากย้อนไปดูความตกลงปารีส มีการกำหนดไว้ว่าชาติภาคีจะร่วมกันรักษาดูแลไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และหากจะให้ดีต้องควบคุมให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า 1.5 องศาเซลเซียสนี้เป็นจุดหักเห ที่หากโลกร้อนขึ้นเกินนี้เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมจะนำมาซึ่งความเสียหายหรือการเปลี่ยนแปลงชนิดที่แก้ไขให้ย้อนกลับคืนมาดีดังเดิมไม่ได้

ยกตัวอย่าง เช่น แนวปะการังอาจตายลง แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่สภาวะอากาศสุดขั้วต่าง ๆ ทั้งภัยแล้ง ไฟป่า น้ำท่วมรุนแรง และสารพัดภัยพิบัติธรรมชาติ รวมไปถึงการขาดแคลนอาหารด้วย

สถิติเดิมของปีที่โลกร้อนที่สุด คือ ปี 2016 ที่ร้อนกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรม 1.28 องศาเซลเซียส ที่เกิดขึ้นโดยมีปรากฏการณ์เอลนีโญระดับรุนแรงเป็นปัจจัยสำคัญ

และทั้งที่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาโลกจะอยู่ในช่วงที่มีปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งทำให้อุณหภูมิโดยรวมลดลง แต่โอกาสที่อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว

วิจัยชี้เอเชียใต้-ตะวันออกเฉียงใต้ ร้อนจัดเกินปกติช่วง เม.ย.

ส่วนผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นแล้ว ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีข้อมูลที่น่าสนใจ หลังทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจาก World Weather Attribution ที่ศึกษาเรื่องความร้อนและความชื้นในอินเดียกับบังกลาเทศ เปิดเผยว่า ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ ทำให้คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าปกติได้ถึง 30 เท่า และได้ข้อสรุปว่าอากาศร้อนขึ้นไปอย่างน้อย 2 องศาเซลเซียส

หลายพื้นที่ในภูมิภาคมีอุณหภูมิพุ่งสูงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส เมื่อเดือนที่แล้ว อย่างบังกลาเทศเผชิญกับอากาศที่ร้อนที่สุดในรอบ 50 ปี ส่วนไทยก็ทำสถิติอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 45 องศาเซลเซียส ด้วยเช่นกัน

คลื่นความร้อนในบังกลาเทศและอินเดีย ที่ปกติแล้วจะเกิดขึ้น 1 ครั้ง ในระยะเวลา 100 ปี ตอนนี้เกิดถี่ขึ้นทุก ๆ 5 ปี ขณะที่ความร้อนในไทยและลาวก็เป็นผลมาจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายให้กับระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การขาดแคลนพลังงานและทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดเพิ่มมากขึ้น

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นด้วยว่าดัชนีความร้อนที่คาดการณ์ไว้ในบางพื้นที่อาจแตะเข้าใกล้ระดับที่อันตรายอย่างยิ่งยวด นั่นคืออาจมีอุณหภูมิสูงถึง 54 องศาเซลเซียส เมื่อมีปัจจัยด้านความชื้นเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้คนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง