วันนี้ (22 พ.ค.2566) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงาน สภาการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานภาวะทางสังคมไทยไตรมาสแรกของปี พบว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัว ส่งผลให้การจ้างงานทั้งในและนอก ภาคเกษตรกรรม ปรับตัวดีขึ้น อัตราว่างงานกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
แรงงานมีชั่วโมงทำงานล่วงเวลาและค่าจ้างเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 15,118 บาท/คน/เดือน
โดยหนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 4 ของปี 2565 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน อยู่ที่ร้อยละ 86.9/GDP คิดเป็นมูลหนี้ 15.09 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการก่อหนี้จากสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ แต่ที่ต้องจับตามอง คือ ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ สินเชื่อกลุ่มสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และหนี้เสียที่มาจากสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรกดเงินสดเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่มูลค่าและจำนวนบัญชีเมื่อเทียบกับช่วงสถานการณ์โควิด-19
โดยแนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่ยังทรงตัวระดับสูงเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป จึงสนับสนุนให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินนโยบายปรับโครงสร้างหนี้รายย่อย และกำชับสถาบันการเงิน ระมัดระวังในการทำตลาด ผ่อนดอกเบี้ย 0% และมุ่งส่งเสริมการให้ความรู้การเงินกับประชาชน
สภาพัฒน์ ยังรายงาน ภาวะการเจ็บป่วยโรคเฝ้าระวัง ไตรมาสแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น จากการเปิดภาคเรียน เช่นเดียวกับ แนวโน้มผู้ป่วยโรคโควิด-19 และโรคลมแดด หรือ ฮีทโตรก ขณะที่สุขภาพจิตคนไทย มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ต้องจับตาปัญหาโรคซึมเศร้า กลุ่มประชากรในวัย 19-24 ปี ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้น
อ่านข่าวอื่นๆ :
เลือกตั้ง2566: เปิด (ร่าง) MOU ฉบับตั้งรัฐบาลก้าวไกลก่อนลงนาม 16.30 น.