ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เมตา" ถูกสั่งปรับ 1,200 ล้านยูโร ฐานถ่ายโอนข้อมูลผู้ใช้งานในยุโรปไปสหรัฐฯ

ต่างประเทศ
23 พ.ค. 66
07:06
829
Logo Thai PBS
"เมตา" ถูกสั่งปรับ 1,200 ล้านยูโร ฐานถ่ายโอนข้อมูลผู้ใช้งานในยุโรปไปสหรัฐฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บริษัท เมตา บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก ถูกหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลของยุโรป สั่งปรับเงิน 1,200 ล้านยูโร สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในโทษฐานถ่ายโอนข้อมูลของผู้ใช้งานในยุโรปไปสหรัฐฯ

วันนี้ (23 พ.ค.2566) คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลแห่งยุโรป ออกแถลงการณ์ระบุว่า การลงโทษปรับเงิน บริษัท เมตา ผู้ให้บริการเฟซบุ๊ก จำนวน 1,200 ล้านยูโร หรือประมาณ 44,000 ล้านบาท มาจากความผิดฐานละเมิดกฎหมายความเป็นส่วนตัวของสหภาพยุโรป ด้วยการโยกย้ายข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในยุโรปไปยังเซิร์ฟเวอร์ในสหรัฐฯ

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลของไอร์แลนด์ ซึ่งทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของสหภาพยุโรป (อียู) ตรวจสอบการทำงานของเฟซบุ๊ก และพบว่าการใช้งานกับการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลในสหรัฐฯ ฝ่าฝืนกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของยุโรป

ในขณะที่ประธานคณะกรรมคุ้มครองข้อมูลแห่งยุโรป ระบุว่า การฝ่าฝืนของเฟซบุ๊กเป็นเรื่องร้ายแรงมาก เนื่องจากเป็นการส่งข้อมูลอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นซ้ำ ๆ และต่อเนื่อง โดยเฟซบุ๊กมีผู้ใช้งานหลายล้านคนในยุโรป ดังนั้น ปริมาณข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกถ่ายโอน จึงมีจำนวนมหาศาล การสั่งปรับมูลค่ามหาศาล จึงเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปถึงองค์กรต่าง ๆ ว่าการฝ่าฝืนกฎหมายที่ร้ายแรงจะมีผลกระทบรุนแรงตามมา

ทั้งนี้ ค่าปรับดังกล่าวนับเป็นค่าปรับจำนวนมากที่สุดที่เคยเกิดขึ้นภายใต้กฎหมายความเป็นส่วนตัวของยุโรป ทำลายสถิติเดิมเมื่อปี 2021 ที่บริษัทแอมะซอน เคยถูกปรับ 746 ล้านยูโร หรือประมาณ 27,000 ล้านบาท

นอกจากนั้น บริษัท เมตา ยังได้รับคำสั่งให้ยุติการใช้งานข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชาวยุโรปในสหรัฐฯ ภายใน 6 เดือน

ด้านบริษัท เมตา ระบุว่าพวกเขาจะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินรวมถึงคำสั่งปรับเงิน อ้างเหตุผลว่าต้นตอของปัญหานี้เกิดจากความขัดแย้งทางกฎหมายระหว่างกฎการเข้าถึงข้อมูลของสหรัฐฯกับสิทธิความเป็นส่วนตัวของยุโรป ฝ่ายนิติบัญญัติของสหภาพยุโรปกับสหรัฐฯ ซึ่งกำลังอยู่บนเส้นทางที่ชัดเจนในการแก้ไขความขัดแย้งนี้ ภายใต้กรอบร่างกฎหมายความเป็นส่วนตัวทางข้อมูลข้ามแอตแลนติก

หากร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วเสร็จจะช่วยยุติปัญหาความขัดแย้งในลักษณะนี้ ระหว่างบริษัทของสหรัฐกับยุโรป ที่เริ่มมีคดีความฟ้องร้องกันมาตั้งแต่ 3 ปีก่อน และจะกลายเป็นบรรทัดฐานในคดีที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนข้อมูลผู้ใช้งานในยุโรปไปยังประเทศที่สามหรือองค์กรต่างชาติ ทั้งนี้ เมตายืนยันว่าคำสั่งดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการดำเนินงานของเฟซบุ๊กในยุโรป ณ เวลานี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง