ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผ่านมา 4 ปี ส.ว.พิจารณากฎหมาย "ผ่าน" กี่ฉบับ ?

การเมือง
23 พ.ค. 66
18:40
1,152
Logo Thai PBS
ผ่านมา 4 ปี ส.ว.พิจารณากฎหมาย "ผ่าน" กี่ฉบับ ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บทบาทสำคัญของ ส.ว. คือ การพิจารณาออกกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ซึ่งร่างทุกฉบับที่ ส.ส. พิจารณาเสร็จ ต้องส่งต่อให้ ส.ว. พิจารณาอีกขั้นหนึ่ง เป็นไปตามเจตนารมณ์ รธน.60 ที่ต้องการความละเอียดรอบคอบ ป้องกันเผด็จการเสียงข้างมากในสภาฯ

เมื่อเปิดข้อมูลจากสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา หมวดหมู่ หน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาชุดแรกตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะพบว่า "วุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล" นั้น ได้ถูกเพิ่มหน้าที่และอำนาจโดยเฉพาะขึ้นมาอีก 4 ข้อ ดังนี้

  1. การติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ
  2. การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. เพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ
  3. การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรยับยั้งไว้ตาม ม.137(2) หรือ (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
  4. การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 

นอกจาก ข้อ 4 ที่ผู้คนทั้งประเทศได้เห็นการทำหน้าที่ของ 250 ส.ว.เฉพาะกาล เมื่อครั้งการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีปี 2562 แล้วนั้น ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ของการดำรงตำแหน่ง ส.ว.เฉพาะกาล ยังมีกฎหมาย หรือร่าง พ.ร.บ.มากถึง 98 ร่าง ที่เข้าสู่รัฐสภาที่ ส.ว.ร่วมพิจารณาเช่นกัน  

4 ปี 98 ร่าง โหวตผ่าน 78 ตีตก 1 

ทุกร่าง พ.ร.บ. ที่ผ่านการพิจารณาจาก ส.ส. แล้ว จะถูกส่งให้ ส.ว. พิจารณาอีกขั้น แม้จะดูซับซ้อน แต่เพื่อความละเอียดรอบคอบและถ่วงดุลความเผด็จการที่อาจลุแก่อำนาจของพรรคการเมือง

ตั้งแต่การโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 250 ส.ว.เฉพาะกาลตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.2562 แล้วนั้น มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ทั้งสิ้น 98 ร่าง ผ่านเป็นกฎหมายบังคับใช้ทั้งหมด 78 ฉบับ อยู่ในขั้นตอนพิจารณาศึกษาล่วงหน้า 19 ร่าง และตีตก 1 ร่าง 

250 ส.ว.เฉพาะกาลชุดนี้ มีวาระ 5 ปี ตั้งแต่ 11 พ.ค.2562 - 11 พ.ค.2567

โดย 2 ร่างกฎหมายแรกที่ ส.ว.พิจารณาร่วมและโหวตผ่าน คือ ร่าง พ.ร.บ.เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 และ ร่างพ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 ช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2562 หลังเข้ารับตำแหน่ง 3 เดือน

ต่อมาก็ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในวันที่ 13 ก.พ.2563 และ ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2563 

เมื่อพิจารณาจากกฎหมาย 4 ฉบับนี้ จะพบว่าปีแรกของการดำรงตำแหน่ง ส.ว.พิจารณาเห็นชอบโหวตผ่านกฎหมายเพียง 3 ฉบับเท่านั้น

เมื่อทำงานครบ 3 ปี ส.ว.พิจารณาผ่านกฎหมาย 35 ฉบับ และ ตีกลับร่างกฎหมาย 4 ฉบับที่ต้องทำให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม เพื่อปรับแก้ไข และทำให้การผ่านกฎหมายล่าช้าออกไป ได้แก่

  • พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565
  • พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565
  • พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565
  • พ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. 2565

เมื่อค้นข้อมูลเพิ่มจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา พบว่าภายในเดือนมิถุนายน 2565 วุฒิสภาเฉพาะกาลชุดนี้ ผ่านกฎหมายกว่า 40 ฉบับ ซึ่งมากกว่าร้อยละ 90 เป็นร่างกฎหมายที่พรรคฝ่ายรัฐบาลเสนอ

ส่วน ร่าง พ.ร.บ. ที่ถูกตีตกไป 1 ร่าง คือ ร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ถูกตีตกในขั้นการพิจารณา วาระที่ 3 

หลังมี พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2566

ส.ส. ไม่สามารถยื่นร่าง พ.ร.บ. เสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาได้ เพราะเป็นเพียงคณะรัฐมนตรีรักษาการ ในขณะที่ ส.ว.เฉพาะกาลกลุ่มนี้ ยังเหลือวาระอีก 1 ปี หากมองตามเนื้อผ้า ก็เท่ากับว่า ส.ว.เฉพาะกาลก็ไม่สามารถพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ได้ตามหน้าที่ที่ถูกเพิ่มเข้ามาได้ 

แต่หากเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น เช่นกรณีพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2566 เพื่อให้ "วุฒิสภา" ประชุมเพื่อทำหน้าที่พิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 126 (2) ก็จำเป็นต้องจัดตั้งการประชุมกันเพียง 250 คนนี้ 

อ่าน : วุฒิสภา เห็นชอบ 'ศิลักษณ์ ปั้นน่วม' เป็นกรรมการผู้ตรวจเงินแผ่นดิน

เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่าปัจจุบันมีกรรมการ ป.ป.ช. เหลืออยู่เพียง 6 คน ว่างลง 3 คน และจะพ้นจากตำแหน่งอีก 2 คน ในเดือน ก.ย.2566 จึงอาจส่งผลให้กรรมการ ป.ป.ช. เหลืออยู่ไม่ถึง 5 คน ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติได้

รู้หรือไม่ : เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2566 ร่าง พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2566 เสนอโดยคณะรัฐมนตรี  คือ กฎหมายฉบับล่าสุดที่ ผ่านการพิจารณาจาก ส.ว. 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง