วันนี้ (23 พ.ค.2566) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน (ฉบับที่...) พ.ศ...สาระสำคัญเป็นการกำหนดให้วาฬสีน้ำเงิน (Balaenptera musculus) เป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติม
พร้อมกับอนุมัติให้รวมเป็นกฎหมายฉบับเดียวกันกับร่าง พ.ร.ฎ. ที่ ครม.ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2565 ซึ่งมีสาระสำคัญกำหนดให้ นกชนหิน หรือ นกหิน (Buceros vigil หรือ Rhinoplax vigil) เป็นสัตว์ป่าสงวน
หลังจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะได้ดำเนินการตามขึ้นตอน เพื่อรวม พ.ร.ฎ. ทั้ง 2 ฉบับเป็นกฎหมายฉบับเดียวต่อไป
การกำหนดให้ทั้ง วาฬสีน้ำเงิน และ นกชนหินหรือนกหิน เป็นสัตว์ป่าสงวนนี้ เป็น การดำเนินการตามขั้นตอนของมาตรา 6 วรรค 2 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ซึ่งบัญญัติว่าในกรณีที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว่าเห็นว่าสัตว์ป่าชนิดใดสมควรกำหนดเป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติม จากที่บัญญัติไว้ในท้าย พ.ร.บ.ฯ ให้ออกเป็น พ.ร.ฎ.
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ก่อนจะเสนอเป็นสัตว์ป่าสงวน วาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ป่าควบคุม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยวาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีแหล่งอาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศ
ในประเทศไทยเองมีข้อมูลการพบเห็นวาฬสีน้ำเงิน เฉพาะทะเลฝั่งอันดามันเพียง 3 ครั้ง แต่เนื่องจากในอดีตถูกล่าจับเป็นจำนวนมาก เพื่อนำเนื้อและไขมันมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน ขณะที่แหล่งอาหารที่ลดลงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความเป็นกรดในทะเล ส่งผลต่อการสืบพันธุ์
นอกจากนี้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จึงได้ขึ้นบัญชีให้วาฬสีน้ำเงิน มีสถานะเป็นชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species : EN) หรืออยู่ในบัญชี IUCN Red List ซึ่งประเทศไทยก็ได้ขึ้นบัญชีวาฬสีน้ำเงินเป็นชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์เช่นกัน (Thailand Red Data)
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อกฎหมายมีผลบังคับให้เป็นสัตว์ป่าสงวนแล้วทั้งวาฬสีน้ำเงิน และ นกชนหินหรือนกหิน จะได้รับการอนุรักษ์และดูแลอย่างเข้มงวดตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 เช่นเดียวกับสัตว์ป่าสงวน แนบท้าย พ.ร.บ.ฯ ที่ปัจจุบันมี 4 จำพวก 19 ชนิด เช่น กระซู่ กวางผา นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร นกกระเรียน เต่ามะเฟือง ปลาฉลามวาฬ
รู้จักวาฬสีน้ำเงิน วาฬใหญ่ที่สุดในโลก
ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รายงานว่า วาฬสีน้ำเงิน เป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นสัตว์ทะเลหายาก และใกล้สูญพันธุ์ที่ได้รับความสำคัญจากนานาประเทศ เนื่องจากการอพยพย้ายถิ่นระยะไกล จึงมีแหล่งอาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศ คาดทั่วโลกมีประชากร 5,000-15,000 ตัว
วาฬสีน้ำเงิน ส่วนหัวมีสีน้ำเงินสม่ำเสมอ ลำตัวด้านหลังมีสีน้ำเงินอมเทา ส่วนท้องสีจางกว่าเล็กน้อย ด้านหลังและด้านข้างมีลายสีน้ำเงินหรือเทาอ่อนมีลักษณะเป็นดวงๆ เหมือนรอยด่าง ลำตัวเพรียวยาว ส่วนหัวกว้างคล้ายตัวยู (U-shaped)
เมื่อมองจากด้านบน มีสันกลางหัว 1 สัน มีช่องหายใจขนาดใหญ่ 2 รู มีซี่กรอง 260-400 คู่ แต่ละซี่ยาวประมาณ 100 เซนติเมตร ลักษณะของซี่กรองค่อนข้างหยาบ มีร่องใต้คาง 60 -88 ร่อง ยาวเกือบถึงสะดือ
ครีบหลังมีขนาดเล็กอาจมีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยมหรือลาดเอียง ปลายครีบแหลมหรือกลมมน ฐานครีบหลังตั้งอยู่ค่อนไปทางหาง คอดหางหนา ครีบข้างเพรียวยาว ปลายครีบแหลม และมีสีอ่อนกว่าส่วนอื่นของครีบ มีความยาวได้ถึงร้อยละ 15 ของความยาวลำตัว ครีบหางกว้างประมาณ 1 ส่วน 4 ของความยาวลำตัว มีร่องกึ่งกลางระหว่างแพนหาง
ขนาดโตเต็มที่มีความยาว 29 เมตร น้ำหนัก 72-135 ตัน หนักที่สุด 180 ตัน ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ลูกแรกเกิดยาว 7-8 เมตร อายุยืน 80-90 ปี
วาฬสีน้ำเงินสามารถดำน้ำได้นานถึง 36 นาที ว่ายน้ำ 3-6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถว่ายน้ำได้เร็วถึง 7–20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อมีสิ่งรบกวน จะใช้เสียงในการส่งสัญญาณสื่อสารกันในระยะทางไกล เป็นเสียงแบบอินฟราโซนิค (Infra Sonic) 17 –20 เฮิร์ตซ์ ซึ่งต่ำเกินไปสำหรับมนุษย์ที่จะได้ยิน วาฬสีน้ำเงินจะโผล่ส่วนหัว และช่องหายใจเหนือผิวน้ำมากกว่าวาฬชนิดอื่นๆ
ในทะเลไทยเคยพบวาฬสีน้ำเงินเพียง 3 ครั้ง พบเห็นบริเวณฝั่งทะเลอันดามันทั้งหมด โดยพบครั้งแรก เมื่อปี 2550 ที่หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา ต่อมาพบเข้ามาเกยตื้นที่เกาะลิบง จ.ตรัง เมื่อปี 2556 ล่าสุดเมื่อปี 2560 พบที่หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา
อ่านข่าวเพิ่ม :
ทำคลัง DNA "ปลาฉลาม-กระเบน" คุมค้าข้ามแดน
ข่าวดี คาด "เสือดาว-เสือดำ" เพิ่มเป็น 200 ตัว เล็งติดกล้องสำรวจ