วันนี้ (23 พ.ค.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. น.ส.กัลยกร ตัวแทนกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้หารือร่วมกับตัวแทนเจ้าหน้าที่รัฐสภาและตำรวจ บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา เกียกกาย เขตดุสิต กรุงเทพฯ เพื่อแจ้งขอใช้สถานที่บริเวณลานหน้าอาคารรัฐสภา จัดกิจกรรม “ส.ว.ต้องไม่ฝืนมติประชาชน” ในช่วงเย็นวันนี้ ตั้งแต่เวลา 17.00-20.00 น.
น.ส.กัลยกร ระบุว่า เป้าหมายที่กลุ่มแนวร่วมฯ นัดมวลชนแสดงจุดยืนในหลักการ เพื่อชวนให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โหวตเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยยืนยันว่ามวลชนไม่ได้เดินทางมาด้วยท่าทีดุดัน แต่มาให้กำลังใจ ส.ว. ที่ตัดสินใจโหวตให้นายพิธา ซึ่งเวทีวันนี้ (23 พ.ค.) จะมีการจัดกิจกรรมวิชาการเพื่อสร้างความเข้าใจว่าเหตุใด ส.ว. จึงต้องยืนข้างประชาชน และปี 2566 เป็นปีสุดท้ายของ ส.ว.ชุดนี้ จึงอยากให้โหวตให้กับนายพิธา
ส่วนประเด็นที่มีเสียงสะท้อนต่อการจัดกิจกรรมของกลุ่มแนวร่วมฯ ในวันนี้ น.ส.กัลยกร ชี้แจงว่า แกนนำได้รับเสียงสะท้อนที่หลายคนอาจเป็นห่วงภาพลักษณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ค่อนข้างดูรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา แต่ยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ตาม กลุ่มแนวร่วมฯ คิดว่าการชุมนุมคงเกิดขึ้นได้ตามปกติ และวันนี้ต้องการมาเพื่อยืนยันจุดยืน
ขณะนี้ประชาธิปไตยขับเคลื่อนแล้ว ภาคประชาชนขยับแล้ว ในสภาฯ ส.ว. ก็ต้องช่วยด้วยเหมือนกัน
สำหรับรูปแบบการจัดกิจกรรมในวันนี้ (23 พ.ค.) จะเป็นเวทีวิชาการที่เน้นว่าทำไมจึงต้องโหวตให้กับนายพิธา และมีกิจกรรมให้เขียนจดหมายขอบคุณ ส.ว. หรือเขียนข้อความชวนโหวตให้นายพิธา
น.ส.กัลยกร ระบุอีกว่า ไม่กังวลเรื่องสถานการณ์สุ่มเสี่ยง เพราะคาดว่าหลายส่วนที่ร่วมกันจัดกิจกรรมจะรับมือได้ และหวังว่าความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งภาคประชาชนที่มาร่วมต่างคุ้นเคยกัน แต่หากเป็นมือที่สามจากฝ่ายอื่น ก็มีการประสานขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้แล้ว
ขณะที่การรักษาความปลอดภัยบริเวณพื้นที่ชุมนุม ใช้กำลังตำรวจจาก สน.ท้องที่ และตำรวจรัฐสภาเป็นหลัก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
คุมเข้มรัฐสภา-เลี่ยงเส้นทาง 5 โมงถึง 2 ทุ่มจัดกิจกรรม "ส.ว.ต้องไม่ฝืนมติประชาชน"
เลือกตั้ง2566 : "วันชัย" เผย ส.ว.อีกจำนวนมากยังไม่ตัดสินใจ โหวตให้ "พิธา" เป็นนายกฯ