วันนี้ (25 พ.ค.2566) ประชาชนบนเกาะกวม ของสหรัฐอเมริกา บันทึกภาพนาทีที่แผ่นสังกะสี กิ่งไม้และข้าวของต่าง ๆ ถูกลมพัดกระจัดกระจาย และปลิวไปโดนรถยนต์ที่จอดอยู่ในลานจอด หลังจากพายุไต้ฝุ่นมาวาร์ พัดถล่มพื้นที่ทางตอนเหนือของเกาะ ด้วยความเร็วลม 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งความรุนแรงของพายุลูกนี้เทียบเท่ากับความรุนแรงของพายุเฮอร์ริเคนระดับ 4
อิทธิพลของพายุทำให้เกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งคลื่นสูง ซึ่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะคลื่นสูงถึง 9 เมตร นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนส่วนใหญ่จากทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 170,000 คน ไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะดำเนินการกู้กระแสไฟฟ้าได้ก็ต่อเมื่อสถานการณ์ปลอดภัยแล้วเท่านั้น พร้อมเตือนว่าประชาชนอาจไม่มีไฟฟ้าและน้ำใช้ไปอีกหลายวัน
ขณะที่โรงแรมบางแห่งเริ่มมีน้ำท่วมขังบริเวณชั้นล่าง และจำเป็นต้องอพยพผู้เข้าพักขึ้นไปชั้นบน โดยมีการคาดการณ์ว่าอิทธิพลของพายุจะทำให้ปริมาณน้ำฝนบนเกาะสะสม 10 - 15 นิ้ว และในบางพื้นที่อาจสูงกว่า 20 นิ้ว
ทางการท้องถิ่นประกาศเตือนให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านและพยายามอยู่ห่างจากหน้าต่างเพื่อความปลอดภัย โดยจนถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
ขณะที่โฆษกทำเนียบขาว ระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน รับทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และรัฐบาลอเมริกันกำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลท้องถิ่น และสนับสนุนความช่วยเหลือที่จำเป็น
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงแล้ว พร้อมทั้งเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวหลายแห่ง เช่นเดียวกับผู้นำสหรัฐฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่เพื่อเปิดทางและเตรียมพร้อมสำหรับการช่วยเหลือ ขณะที่เที่ยวบินทั้งขาเข้าและออกจากเกาะระหว่างวันอังคารถึงวันนี้ถูกยกเลิกไปแล้วประมาณ 60 เที่ยวบิน
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติสหรัฐฯ (NWS) คาดว่าสถานการณ์บนเกาะกวมจะเริ่มดีขึ้นในวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น แต่พายุอาจทวีความรุนแรงขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้าและอาจกลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นเมื่อเข้าสู่ทะเลฟิลิปปินส์
เกาะกวมซึ่งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกมักเผชิญพายุไซโคลนบ่อยครั้ง แต่พายุมาวาร์ลูกนี้อาจเป็นพายุไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดที่พัดถล่มเกาะนับตั้งแต่ปี 2002
แม้จะยังไม่แน่ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดพายุบ่อยครั้งขึ้นหรือไม่ แต่นักวิทยาศาสตร์ ระบุว่าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้อากาศเหนือน้ำอุ่นขึ้น ซึ่งทำให้มีพลังงานมากขึ้นในการขับเคลื่อนพายุเฮอร์ริเคน ไซโคลน และไต้ฝุ่น ซึ่งส่งผลให้พายุเหล่านั้นมีความรุนแรงยิ่งขึ้นและทำให้ฝนตกหนักมากขึ้นด้วย