ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้ง2566 : "ประธานสภาฯ" ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ที่พรรคอันดับ 1 ต้องได้ ?

การเมือง
25 พ.ค. 66
19:17
11,136
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566 : "ประธานสภาฯ" ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ที่พรรคอันดับ 1 ต้องได้ ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ยังเป็นประเด็นร้อนเมื่อ "ศิริกัญญา" ย้ำ "ก้าวไกล" ต้องได้เก้าอี้ประธานสภาฯ เพราะได้คะแนนเสียงอันดับ 1 แม้กว่า 20 ปีที่ผ่านมาจะเป็นเช่นที่ ศิริกัญญา กล่าว แต่ที่มาของประธานสภาฯ คนล่าสุด เจ้าของปรากฏการณ์ "อยู่ให้เขารัก จากให้เขาคิดถึง" กลับไม่เป็นเช่นนั้น

รัฐธรรมนูญของไทยตั้งแต่ พ.ศ.2535 จนกระทั่งฉบับปัจจุบัน 2560 มาตรา 98 กำหนดให้ "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" เป็น "ประธานรัฐสภา" และให้ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง

ความสำคัญของตำแหน่งนี้ คือ การเป็นผู้นำชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์ หลังที่ประชุมรัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ

ที่มาที่ไป ใครเลือก ประธานรัฐสภา 

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 กำหนดให้การเลือกประธานสภาฯ มีวิธีการดังนี้

  1. สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้ 1 ชื่อ
  2. โดยที่การเสนอนั้นต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน
  3. ผู้ถูกเสนอชื่อ แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม
  4. ถ้ามีการเสนอชื่อผู้ใดเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก
  5. ถ้ามีการเสนอชื่อหลายชื่อ ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ
ขั้นตอนเลือกประธานสภา

ขั้นตอนเลือกประธานสภา

ขั้นตอนเลือกประธานสภา

ประธานรัฐสภา มีหน้าที่อะไรบ้าง

  1. เป็นประธานของที่ประชุมรัฐสภา
  2. กำหนดการประชุมรัฐสภา
  3. ควบคุมและดำเนินกิจการของรัฐสภา
  4. รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมรัฐสภาตลอดถึงบริเวณของรัฐสถา
  5. เป็นผู้แทนรัฐสภาในกิจการภายนอก
  6. แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินกิจการใดๆ
  7. อำนาจและหน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
  8. เป็นผู้นำชื่อนายกรัฐมนตรี ขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อให้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ หลังสภาฯ มีมติเลือก
  9. เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกฯ

อำนาจการบรรจุญัตติเข้าสภา

การเสนอญัตติโดยสมาชิกสภาฯ ผู้ยื่นญัตติต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 5 คน ดำเนินการเสนอหนังสือล่วงหน้าต่อประธานรัฐสภา ส่วนญัตติด่วนนั้น ประธานรับสภา จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าเป็นญัตติด่วนหรือไม่ 

ในสภาฯ ชุดที่ผ่านมา มีญัตติหลายประเด็น ที่ไม่ได้ถูกนำเข้าสภาฯ เช่น ส.ส. 44 คน จากพรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เสนอแก้ไขกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก 5 ฉบับ

1 ในนั้นคือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ถูกโต้แย้งกลับโดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และประธานสภาฯ ว่ามีบทบัญญัติอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ เป็นต้น

20 ปี 11 ประธานรัฐสภา

  • 2535 มารุต บุนนาค พรรคประชาธิปัตย์ โดยที่ประชาธิปัตย์ ได้ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภาฯ 79 ที่นั่ง
  • 2538 พล.ต.บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ พรรคชาติไทย โดยที่ชาติไทย ได้ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภาฯ 92 ที่นั่ง
  • 2539 วันมูหะมัดนอร์ มะทา พรรคความหวังใหม่ โดยที่ความหวังใหม่ ได้ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภาฯ 125 ที่นั่ง
  • 2543 พิชัย รัตตกุล พรรคประชาธิปัตย์ จาก "รัฐบาลชวน 2" โดยที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาลจากการดึง ส.ส.พรรคประชากรไทยร่วมตั้งรัฐบาล
  • 2544 อุทัย พิมพ์ใจชน พรรคไทยรักไทย โดยที่ไทยรักไทย ได้ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภาฯ 248 ที่นั่ง
  • 2548 โภคิน พลกุล พรรคไทยรักไทย โดยที่ไทยรักไทย ได้ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภาฯ 377 ที่นั่ง
  • 2551 ยงยุทธ ติยะไพรัช พรรคพลังประชาชน โดยที่พลังประชาชน ได้ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภาฯ 233 ที่นั่ง
  • 2551 ชัย ชิดชอบ พรรคภูมิใจไทย (ก่อนหน้านั้นระหว่างดำรงตำแหน่งสังกัดพรรคพลังประชาชน) สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากมีการยุบพรรคการเมือง 3 พรรค ได้แก่ พลังประชาชน, ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย ชัย ชิดชอบ ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเปลี่ยนขั้วมาเข้าร่วมรัฐบาลกับประชาธิปัตย์
  • 2554 สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ พรรคเพื่อไทย โดยที่เพื่อไทย ได้ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภาฯ 265 ที่นั่ง
  • 2557 พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
  • 2562 ชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ (ประชาธิปัตย์มีที่นั่งในสภาฯ 52 เสียง เป็นพรรคอันดับ 4 ) ถือเป็นประธานสภาฯ คนแรก ที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นอันดับ 1  
ประธานรัฐสภาไทย 11 สมัย

ประธานรัฐสภาไทย 11 สมัย

ประธานรัฐสภาไทย 11 สมัย

อ่าน : เลือกตั้ง2566 : "ศิริกัญญา" แถลงย้ำก้าวไกลต้องได้ตำแหน่ง "ประธานสภา"

ตำแหน่งประธานสภา ตัวต่อรองร่วมรัฐบาล?

ในการเลือกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ในปี 2562

ชิงชัยกันระหว่างผู้ที่ถูกเสนอชื่อ 2 ชื่อ ได้แก่

  1. ชวน หลีกภัย จากพรรคประชาปัตย์ ถูกเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐ
  2. สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทย ถูกเสนอชื่อจากพรรคประชาชาติ

เมื่อมีผู้เสนอชื่อผู้รับการโหวตมาก 1 คน ประธานที่ประชุมจึงให้มีการลงคะแนนโดยลับ มีผู้ลงคะแนนทั้งหมด 494 คน จากผู้เข้าประชุม 496 คน ผลโหวต ชวน หลีกภัย ได้ 258 คะแนน ส่วนสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ได้ 235 คะแนน งดออกเสียง 1 ทำให้ ชวน หลีกภัย เป็นว่าที่ประธานสภาฯ คนใหม่ โดยที่ได้คะแนนโหวตจากการรวมพลังของ 20 พรรคการเมือง นำโดยพรรคพลังประชารัฐ ที่พลิกล็อกได้จัดตั้งรัฐบาลจากคะแนนเสียงที่เพิ่มขึ้น 250 คะแนนของ ส.ว.

ผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 นอกจากจะได้ประธานสภาฯ จากพรรคที่ได้คะแนนเสียงเพียงอันดับ 4 แล้วยังแสดงให้เห็นถึงพรรคที่หนุนการนำของพรรคพลังประชารัฐ ให้จัดตั้งรัฐบาล จึงถือได้ว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ อาจเป็น "ตัวต่อรอง" เงื่อนไขการเข้าร่วมเป็นรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย ให้ข้อมูลว่า ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น สุชาติ ตันเจริญ จากพรรคพลังประชารัฐ ส่งสัญญาณ "พร้อมหมอบ" ให้แก่คู่แคนดิเดตจากประชาธิปัตย์ ตามความเห็นแกนนำ พปชร. ที่ไปเจรจาจับขั้วตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองต่าง ๆ สุชาติยอมรับอย่างไม่ปิดบังว่า

ขณะนี้เราตระหนักถึงการจัดตั้งรัฐบาลเป็นหลัก

ที่มา : รัฐสภา, BBC ไทย, iLaw

อ่านข่าวเพิ่ม : เลือกตั้ง2566 : "อุทัย" ชี้ ประธานสภาฯ ต้องเป็นกลาง - คุมการประชุมให้เรียบร้อย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง