แต่กองทัพอากาศ ยังยืนยันความจำเป็นในการจัดหาเครื่องบินรบฝูงใหม่ ทดแทนเครื่องบินขับไล่ F-16 ที่จะทยอยปลดประจำการ และขณะนี้ยังไม่ส่งสัญญาณว่ากองทัพอากาศสนใจเครื่องบินรบแบบใด แม้ว่าสหรัฐฯ จะเสนอเครื่องขับไล่ F-16 และ F-15 ให้พิจารณาแทน F-35
เส้นทางการจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 เพื่อเป็นเขี้ยวเล็บใหม่ของกองทัพอากาศไทย ต้องยุติลง ตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นโครงการ หลังจากทางสหรัฐฯ ไม่สามารถขายเครื่องบินขับไล่ F-35A ได้ และกลายเป็น 1 ในประเด็นร้อนท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่
กองทัพอากาศ ออกเอกสารชี้แจงว่า ทางสหรัฐฯ ให้เหตุผลที่ไม่เสนอขาย F-35 ให้ไทย ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา เพราะจากแผนการผลิต และคำสั่งซื้อ F-35 A ในปัจจุบัน อาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี ในการนำส่งเครื่องให้ผู้ซื้อรายใหม่
รวมทัังประเด็นการเตรียมความพร้อม และ การลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการฝึก และการรักษาความปลอดภัย ที่ต้องจัดทำใหม่ตามมาตรฐานสหรัฐฯ ซึ่งแตกต่างจากระบบของ F-16 และ ใช้งานร่วมกับยุทโธปกรณ์อื่นไม่ได้
แต่สหรัฐฯ ก็เปิดข้อเสนอขายเครื่องบินขับไล่โจมตียุคที่ 4.5 อีก 2 แบบให้ไทย คือ F-16 และ F-15 ซึ่งสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า ใช้เวลาจัดหาได้เร็วกว่า และ น่าจะตอบสองความต้องการของกองทัพอากาศไทยได้ โดยสหรัฐฯ พร้อมส่งทีมมาหารือร่วมกัน
ขณะที่กองทัพอากาศ ยังไม่มีท่าทีชัดเจนว่า จะตอบรับข้อเสนอใหม่ของสหรัฐฯ หรือไม่ แต่ย้ำมาโดยตลอดว่า แม้สหรัฐฯ จะขาย หรือ ไม่ขายเอฟ F-35 ก็จะไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ 2 ประเทศที่ยาวนานมาถึง 190 ปี
พร้อมยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องจัดหาเครื่องบินรบใหม่ ทดแทน F-16 ที่จะทยอยปลดประจำการ และ แนวโน้มคาดว่า น่าจะยังสนใจเครื่องบินรบรุ่นใหม่จากค่ายผู้ผลิตสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น F-16 หรือ F-15 ที่สหรัฐฯ เสนอเป็นทางเลือก รวมไปถึง เครื่องบินขับไล่กริพเพนรุ่นใหม่จากสวีเดน เนื่องจากกำลังพลมีความคุ้นเคย และมีระบบรองรับไว้แล้ว
แต่ทัังหมดก็ต้องตอบโจทย์กองทัพอากาศ ที่ต้องการยกระดับกองทัพให้ทันสมัย - ปูทางเริ่มต้นเข้าสู่ระบบเครื่องบินรบยุคที่ 5 และ ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยเด้านงบประมาณ และเงื่อนไขทางการเมือง หลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
อ่านข่าวเพิ่ม :
“ก้าวไกล” นัดถกวงเล็ก “ประธานสภาฯ” 30 พ.ค.ที่พรรคประชาชาติ
"SAVE บางกลอย" ตั้งคำถาม สปสช. กรณี "กิ๊ป" ป่วยเสียชีวิตไร้ จนท.ดูแล
“กรมการแพทย์” พร้อมรับมือผู้ป่วยโควิด-19 แนะฉีดวัคซีนลดรุนแรง