จากกรณีการทำบุญปล่อยปลาดุกจำนวนมากลงแหล่งน้ำสาธารณะทำให้เกิดกระแสดรามาในกลุ่มนักอนุรักษ์ในวงกว้าง เนื่องจากเป็นห่วงผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมทั้งปลาที่พ่อค้าแม่ค้าขังไว้นาน ๆ เมื่อปล่อยลงน้ำโอกาสรอดยาก
วันนี้ (4 มิ.ย.2566) กรมประมง โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ตามความเชื่อของสายบุญ การปล่อยสัตว์น้ำ โดยเฉพาะสัตว์น้ำหน้าเขียง ถือเป็นการทำบุญใหญ่ หนุนนำชีวิต
ภาพ : กรมประมง
แต่การปล่อยสัตว์น้ำลงแหล่งน้ำสาธารณะ ผู้ปล่อยต้องคำนึงถึงการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ ให้อยู่ในที่ที่เหมาะสม เพราะปลาและสัตว์น้ำแต่ละชนิดมีการดำรงชีวิตไม่เหมือนกัน บึงใหญ่ในวัดอาจไม่ใช่บ้านของสัตว์น้ำทุกตัว
แทนที่จะเป็นการช่วยชีวิตกลับเป็นการทำร้ายทั้งสัตว์น้ำและธรรมชาติ คิดจะทำบุญทั้งที มาดูแหล่งน้ำที่ควรปล่อยสัตว์น้ำแต่ละชนิด จะได้ช่วยชีวิตให้อยู่รอดจริง ๆ ดีกว่า
ชี้ “ปลาดุกรัสเซีย” ห้ามปล่อยลงน้ำ เหตุทำระบบนิเวศพัง
ทั้งนี้ กรมประมง ยังแนะนำว่า ปลาแต่ละชนิดว่า ควรปล่อยในแหล่งน้ำที่มีลักษณะแตกต่างกันตามความเหมาะสม เช่น ปลาไหล ควรปล่อยในแม่น้ำ คลอง บึง ร่องสวน ท้องนา เฉอะแฉะ เพราะชอบขุดรู กระแสน้ำไม่แรง ไม่ควรปล่อยในแม่น้ำใหญ่ โอกาสรอดยาก
ภาพ : กรมประมง
ส่วนปลาดุกอุย หรือ ปลาดุกรัสเซีย ไม่ควรปล่อยลงแม่น้ำเพราะเป็นสัตว์ต่างถิ่น นอกจากนี้ยังมีปลาชนิดอื่น ๆ เช่น ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลาบู่ทราย ปลาหมอ เป็นต้น
ผู้เชี่ยวชาญเตือน “บิ๊กอุย” ปลาลูกผสมต่างถิ่น กินจุ
ขณะที่เพจคนอนุรักษ์ ได้คำนวณผลกระทบของปลาดุกปล่อยต่อระบบนิเวศ อ้างอิงข้อมูลจาก ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระ ระบุว่า ปลาดุก 1 ตัน กินสัตว์น้ำประมาณ 1,800,000 ตัวต่อปี
ทั้งนี้ ปลาดุกอุยเป็น ลูกผสมที่เกิดจากปลาดุกยักษ์จากทวีปแอฟริกาและปลาดุกอุย ลูกปลาที่เกิดมาเป็นปลาลูกผสมที่ถือว่าเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เรียกชื่อทางการค้าว่า "ปลาดุกบิ๊กอุย" ได้ปลาที่โตเร็ว มีเนื้อดีพอสมควรและเป็นหมันการใช้ประโยชน์ คือ นำมาบริโภคตามจุดประสงค์ที่ถูกเลี้ยงขึ้นมา
ในปัจจุบันมีผู้นิยมนำปลาดุกบิ๊กอุยไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติของประเทศไทยเพื่อทำบุญ แต่การกระทำดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่นั้น ๆ
ข้อมูล ระบุว่า โจทย์ หากนายบุญหนัก ต้องการปล่อยปลาดุก 1,000 กิโลกรัม คิดเป็นปลาดุกประมาณ 3,000 ตัว ปลาดุก 1,000 กิโลกรัม จะกินอาหารวันละ 50 กิโลกรัม (1,000*5%)
- ในอาหาร 50 กิโลกรัมนี้เป็นสัตว์ครึ่งหนึ่ง ดังนั้นคิดเป็นสัตว์น้ำหนักรวม 25 กิโลกรัม หรือ 25,000 กรัม (1 กก. = 1,000 กรัม)
- ปลาดุกตัวขนาดนี้ สัตว์น้ำท้องถิ่นอย่าง ลูกปลาบู่ ลูกปลาตะโกก ลูกปลาตะเพียน ปลาซิว กุ้งฝอย และ หอยขม ที่กินได้พอดี ๆ คำจะตัวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ก็จะหนักไม่เกิน 5 กรัม
ดังนั้นปลาดุก 3,000 ตัวที่นายบุญหนักปล่อยไปนี้ ถ้าต้องการมีชีวิตที่ดีก็ต้องกินสัตว์น้ำอื่น ๆ ไปวันละ 5,000 ตัว (25,000/5) หรือปีละ 1,800,000 ชีวิต (5,000*360)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทช.ชี้กิจกรรมปล่อยปลา CSR เป็นปลาการ์ตูนพันธุ์ต่างถิ่น กระทบนิเวศน์ทางทะเล
พระเตือนสติญาติโยม "ปล่อยปลา-เต่า" ผิดธรรมชาติได้บาป