ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

โลกร้อนในมุม “KongGreenGreen” สิ่งแวดล้อมทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก

ไลฟ์สไตล์
6 มิ.ย. 66
13:12
2,468
Logo Thai PBS
โลกร้อนในมุม “KongGreenGreen” สิ่งแวดล้อมทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“ลดขยะ” เท่ากับ “ลดโลกร้อน” แต่ถ้ายังทำไม่ได้ ให้เริ่มจาก “แยกขยะ” เพราะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ชวนเรียนรู้จากประสบการณ์ของอินฟลูเอนเซอร์สายกรีน

ปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน ปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ได้ปลุกกระแส “รักษ์โลก” ทำให้เทรนด์รักสิ่งแวดล้อมมาแรง หลายคนตื่นตัวและ KongGreenGreen คือหนึ่งในนั้น

KongGreenGreen หรือ “ก้อง” ชณัฐ วุฒิวิกัยการ ไม่ได้แค่คิด แต่ยังลงมือทำอย่างต่อเนื่อง และกล้าชวนให้คนมาทำตามในการแก้ไขสภาพสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับ “การแยกขยะ” ซึ่งเป็นปัญหาใกล้ตัวและอยู่ล้อมรอบตัวมนุษย์ทุกคน

จุดเริ่มต้นแยกขยะของผู้ชายคนนี้ คือการนำหนังสือพิมพ์ไปขายที่ร้านของเก่า และสังเกตเห็นว่ามีคนเอากระดาษ กระป๋อง รวมถึงพลาสติกไปขายด้วย แม้ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าซื้อขายไปทำอะไร แต่เริ่มรู้ว่าขยะบางอย่างมันมีค่า

ก้อง เล่าว่า เริ่มคัดแยกขยะจริงๆ เมื่อไปใช้ชีวิตที่สหรัฐอเมริกา เพราะที่นั่นเข้มงวดเรื่องการแยกประเภทของขยะ ผลพลอยได้จึงทำให้ติดเป็นนิสัย ต่อมาจึงเริ่มทำคอนเทนต์เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม พบว่าบ้านหลายหลังคัดแยกขยะจริงจัง ได้เห็นขั้นตอน เทคนิคและปัญหาต่างๆ จนต้องกลับมาทบทวนการแยกขยะของตัวเอง

แยกไปแยกมา เริ่มทำคลิปชวนคนอื่น เพราะรู้สึกว่าการแยกขยะไม่ยาก แค่เปิดใจยอมรับ ทำความเข้าใจ แล้วจะติดเป็นนิสัยไปเอง

หลังจากทำคอนเทนต์แยกขยะมากว่า 2 ปี “ก้อง” บอกว่า เห็นผลลัพธ์น่าตกใจ มีเพื่อนและมีผู้ติดตามมากขึ้น มีคนแชร์คอนเทนต์และเข้ามาพูดคุย จนเกิดเป็นกลุ่ม “แยกขยะกันเถอะ (กลุ่มใหม่)” ในเฟซบุ๊ก ซึ่งสะท้อนว่า เราไม่ได้แยกขยะอย่างโดดเดี่ยว ไม่ได้แคร์สิ่งแวดล้อมอยู่คนเดียว แต่มีอีกหลายพันหลายหมื่นคนมารวมกันอยู่ตรงนี้ มีผู้พร้อมรับข้อมูลและมีคนอินกับเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

Zero Waste ลดขยะแบบ KongGreenGreen

แม้ให้ความรู้เรื่องการแยกขยะ แต่ก้องอยากให้คนโฟกัสเรื่องลดการสร้างขยะมากกว่า เพราะการไม่สร้าง สำคัญกว่าการแยก โดยพยายามทำชีวิตให้ Zero Waste หรือ แนวคิดขยะเหลือศูนย์มากที่สุด พกกล่องอาหารหรือปิ่นโต แก้วน้ำส่วนตัวและหลอดที่ใช้ซ้ำได้ ของบางอย่างไม่หนักเกินไป แต่สามารถลดการสร้างพลาสติกได้ตลอดชีวิต

นอกจากนี้ต้อง “ฝึกปฏิเสธให้เป็น” ไม่รับถุงพลาสติกจากร้านค้าและร้านสะดวกซื้อ หรือรับเท่าที่จำเป็น แม้จะเป็นถุงพลาสติกแค่ใบเดียว แต่เมื่อทิ้งแล้วจะตกค้างอยู่บนโลกไปอีกนับร้อยๆ ปี

เราต้องทำในสิ่งที่บอกให้คนอื่นทำและพิสูจน์ว่ามันทำได้ ถ้าบอกให้คนอื่นแยกขยะ ไม่รับถุงพลาสติก แต่เรายังทำอยู่ จะกลายเป็นคนรณรงค์ที่ไม่จริงจังและไม่จริงใจ

ขณะเดียวกันก็มีประเด็นเกิดขึ้นว่า ทำไมร้านสะดวกซื้อไม่แจกถุง แต่กลับขายถุงละ 1-2 บาท ซึ่งก้องมองว่า ทุกคนพลิกตรรกะเป็นเรื่องของการเสียเปรียบ เพราะร้านค้าจะได้เงินเพิ่มจากการขายถุง แต่อยากให้มองในมุมกลับกัน แค่ปฏิเสธไม่รับถุง แล้วเตรียมกระเป๋าหรือถุงผ้ามาใช้ เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องแคร์ว่าเขาจะขายถุงให้เรากี่บาท

หากสามารถปรับความคิดว่าจะไม่สร้างขยะแบบใช้แล้วทิ้ง (Single Use) ก็จะไม่มีใครเสียเปรียบ มีแต่ได้เปรียบด้วยกันทั้งหมด ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม หากมองว่าการได้รับคือการได้เปรียบ จริงๆ แล้วอาจกำลังเสียเปรียบไปพร้อมๆ กับสิ่งแวดล้อมที่เสียไป

ภาพ KongGreenGreen

ภาพ KongGreenGreen

ภาพ KongGreenGreen

ระบบจัดการของไทยดี แยกขยะได้ทุกบ้าน

สำหรับการแยกขยะทุกบ้านในประเทศไทย จะทำได้เหมือนประเทศอื่นหรือไม่นั้น อินฟลูเอนเซอร์คนดัง เชื่อว่า “ทำได้” และรอไม่นาน เพราะบ้านเรามีระบบการจัดการแล้ว แต่ยังมีข้อติดขัดในบางเรื่อง ซึ่งหากมีกฎหมายที่เข้มแข็งพอจะออกกฎให้ทุกคนแยกขยะ จริงจังกับการจัดการขยะ ออกแบบระบบการจัดการขยะปลายทางให้ชัดเจน ไม่เอื้อต่อกลุ่มทุนหรือกลุ่มอิทธิพลใดๆ ที่เอาขยะไปจัดการแบบไม่ยั่งยืน

หากปลดล็อกตรงนี้ได้ เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่ถึง 10 ปี เราจะแยกขยะได้ไม่ต่างจากไต้หวัน ญี่ปุ่นและประเทศในยุโรป มันติดล็อกอยู่แค่คนไม่กี่คนไม่กล้าออกกฎหรือระบบต่างๆ ขณะที่พลังของกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมีเพิ่มขึ้นชัดเจน

“ก้อง” ย้ำว่า ขณะนี้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นมากกว่าเทรนด์ เป็นทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก มีคนไม่น้อยที่พร้อมจะเอาด้วย รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่กระตือรือร้นกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะอยากได้โลกที่ดีกว่าเดิม และถึงเวลาแล้วที่ควรใช้ชีวิตแบบรับผิดชอบมากขึ้น เพราะปัญหา “โลกร้อน” เป็นเรื่องใหญ่

ส่วนการแยกขยะเป็นเพียงตัวช่วยชะลอเรื่องโลกร้อนเท่านั้น โดยเอาทรัพยากรมาหมุนเวียน ไม่ปล่อยให้ขยะไปกองในหลุมฝังกลบที่มีอยู่กว่า 2,000 แห่งในประเทศไทย แล้วปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเพิ่มความร้อนให้กับโลก ดังนั้นหากช่วยลดการสร้างขยะและแยกขยะ ก็มีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้

แต่โลกร้อน ไม่ใช่แค่เรื่องอากาศร้อนเท่านั้น ยังเชื่อมโยงถึงเรื่องปากท้องด้วย ซึ่งหลายคนยังคิดว่าเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัว

ตอนนี้เราปลูกอะไรได้ แต่อีก 5 ปีข้างหน้าจะปลูกไม่ได้ ของที่เคยปลูกได้เยอะกลับได้น้อย จะแพงขึ้นหรือไม่ คนเมืองกระทบหรือไม่ หรือใช้ชีวิตลำบากขึ้นเพราะอากาศเปลี่ยนแปลง เหล่านี้คือผลกระทบจากโลกร้อนที่เป็นเรื่องใกล้ตัว

อินฟลูเอนเซอร์สายกรีน บอกว่า อยากฝากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกกฎหมายและนโยบายต่างๆ มีความจริงใจและจริงจังแก้ปัญหานี้ ที่ผ่านมามีการออกกฎทั้งแบนกล่องโฟม แบนถุงพลาสติก แต่กลับไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการออกกฎหรือนโยบายเป็นก้าวที่ใหญ่กว่าการรณรงค์ แม้พลังมดของประชาชนจะมีความสำคัญ แต่พลังของคนที่ออกกฏก็สำคัญมากเช่นกัน

ภาพ KongGreenGreen

ภาพ KongGreenGreen

ภาพ KongGreenGreen

How to มือใหม่หัดแยกขยะ

มีผู้คนจำนวนมากในสังคมอยากมีส่วนร่วม “รักษ์โลก” เพื่อช่วย “ลดโลกร้อน” แต่อาจไม่ทราบว่าควรเริ่มจากจุดใด KongGreenGreen ให้คำแนะนำว่า เริ่มได้จากตัวเอง โดยหาวิธีลดการสร้างขยะในชีวิตประจำวัน ไม่ซื้อ ไม่รับอะไรที่ไม่จำเป็นและมีอายุการใช้งานสั้น และให้มองหาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนมาทดแทน แต่เมื่อซื้อหรือรับมาแล้ว สร้างขยะขึ้นแล้ว ก็ควรทิ้งอย่างรับผิดชอบ

และข้างใต้นี้ เป็นวิธีการสำหรับ “มือใหม่” หัดแยกขยะประเภทต่างๆ

- ขยะย่อยสลายได้ ขยะอินทรีย์ เศษอาหาร เศษผัก-ผลไม้ ควรแยกออกจากขยะอื่นๆ เพื่อไม่ให้เลอะจนเน่าเหม็น มีวิธีจัดการที่หลากหลาย เช่น นำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ

- ขยะรีไซเคิล สามารถกลับมาเกิดใหม่ได้ เช่น กระป๋อง กระดาษ พลาสติก อะลูมิเนียม แก้วต่างๆ ให้แยกไว้ เพราะมีมูลค่าและส่งขายได้ เมื่อไม่มีขยะเศษอาหารปนเปื้อน ก็สามารถทำความสะอาดด้วยการเช็ด หรือล้าง และตากให้แห้ง ก่อนส่งให้รถขยะจัดการต่อไป หรือนำไปส่งตามจุดรับรีไซเคิลด้วยตัวเอง ก็จะช่วยลดปริมาณขยะที่จะถูกส่งไปยังบ่อฝังกลบได้

- ขยะทั่วไป รีไซเคิลไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นซองบรรจุภัณฑ์ ซองรีฟิล หรือพลาสติกประเภทต่างๆ คนบางกลุ่มเรียกขยะชนิดนี้ว่า “ขยะกำพร้า” เพราะไม่มีใครเอา แต่บางอย่างเอาไปเผาเป็นพลังงานได้ เช่น ซองขนม ซองน้ำยาซักผ้า ซองน้ำยารีฟิลต่างๆ หรือแม้แต่โฟม สามารถส่งไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตเป็นไฟฟ้าหรือปูนซีเมนต์ได้

- ขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แบตเตอร์รีและกระป๋องสเปรย์ต่างๆ อย่าเก็บไว้ใกล้เปลวไฟหรือที่ที่มีอุณหภูมิสูง แยกส่งให้จุดรับเพื่อนำไปกำจัดให้ถูกวิธี เช่น ฝังกลบ หรือบางอย่างนำไปรีไซเคิลได้

การไม่สร้างขยะ ย่อมดีกว่าการแยกขยะ และเมื่อโลกของเรากำลังร้อนขึ้น “รักษ์โลก” อาจไม่ใช่แค่กระแส แต่เป็นเรื่องที่เราในฐานะผู้อาศัยบนโลกควรทำจริงจัง

"ติดตามสถานการณ์สภาพแวดล้อม ภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปกับไทยพีบีเอสใน 1.5 องศาจุดเปลี่ยนโลก"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โลกเผชิญ “ซูเปอร์เอลนีโญ-ลานีญา” 5 ครั้ง

ไขคำตอบ เอลนีโญ-ลานีญา ความต่างที่สุดขั้ว

2566 โลกร้อน อากาศแปรปรวน การพยากรณ์ไม่ง่าย

โลกร้อน “ลานีญา” สลับขั้ว "เอลนีโญ"ไทยเผชิญฝนน้อย-แล้งยาว 19 เดือน

PM 2.5 ยังวิกฤต “ผอ.กรีนพีซ” ชี้ทุกภาคส่วน ทั้ง “รัฐบาล-ประชาชน-กฎหมาย” ต้องช่วยแก้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง