บึงกาฬ จังหวัดลำดับที่ 77 ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนสุด มีประชากรกว่า 421,995 คน ทั้งจังหวัดมีแพทย์ 73 คน ถือว่าน้อยที่สุดของประเทศ แพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยมากถึง 6,000 คน
หากเปรียบหมอที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลเป็นนักรบเสื้อกาวน์ ก็ต้องถือว่าแต่ละคนต้องรบอย่างหนักหนาสาหัส ในการต่อสู้กับความกดดัน และการแบกรับภาระต่างๆท่ามกลางความขาดแคลน และคนไข้จำนวนมากในแต่ละวัน
อ่านข่าว : หมอไม่พร้อม "แบก " งานหนัก- เงินน้อย- ถูกฟ้อง
นพ.ภมร ดรุณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ บอกว่า รพ.บึงกาฬ เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก ไม่มีแพทย์เฉพาะทาง อยู่ในพื้นที่อันดับ 1 ของประเทศที่ประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์ แต่ละปีมีแพทย์จบใหม่ลาออกประมาณ 4-5 คน ส่วนใหญ่เลือกไปศึกษาต่อเฉพาะทาง และขอย้ายไปสังกัดโรงพยาบาลขนาดใหญ่
เนื่องจากเป็น รพ.ขนาดเล็ก ดังนั้นจึงไม่มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยได้ทุกโรค โดยเฉพาะที่ต้องใช้แพทย์เฉพาะทาง เช่น โรคที่ต้องผ่าตัดสมอง หรืออาการบาดเจ็บทางศีรษะ ต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่า เช่น รพ.สกลนคร และ รพ.อุดรธานี แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการส่งต่อ หรือการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่เกิดความล่าช้า
อ่านข่าว : "หมออินเทิร์น" ผู้ขับเคลื่อนวงการสาธารณสุขไทย?
นพ.ภมร บอกว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาเตียงไม่พอรองรับกับจำนวนผู้ป่วย และตู้อบเด็กแรกเกิด ทำให้ต้องส่งคนไข้ไปรักษาต่อที่ รพ.ปลายทาง แต่ทุกที่มีปัญหาคนไข้ใกล้จะเต็มเช่นเดียวกัน
ส่วนการให้การรักษาเรื่องทันตกรรมนั้น รพ.บึงกาฬมีทันตแพทย์เพียงพอ แต่คนไข้ยังต้องรอคิวนาน เช่น อุดฟันต้องรอประมาณ 1 สัปดาห์ จึงให้อยากเพิ่มจำนวนแพทย์ส่วนนี้ด้วย
นพ.ภมร กล่าวว่า จ.บึงกาฬ มีแพทย์ทั้งหมด73 คน และแพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยมากถึง 6,000 คน ปัญหาดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญทำให้แพทย์รุ่นน้องหลายคนตัดสินใจลาออก หรือทำเรื่องลาไปศึกษาต่อเร็วขึ้น
การเอาเปรียบกันในการทำงานอาจมีบ้างแต่ไม่มาก เพราะแพทย์รุ่นพี่ หรือแพทย์รุ่นน้อง ล้วนทำงานหนักไม่ต่างกัน
นพ.ภมร บอกว่า สภาพโดยรวมขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น รพ.ขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก มีแพทย์น้อย แต่งานค่อนข้างหนัก ตั้ง จ.บึงกาฬ มา 10 กว่าปี พบว่า ระบบการส่งต่อคนไข้หรือผู้ป่วยค่อนข้างติดขัด ส่งต่อยาก ปัญหาการส่งต่อให้ รพ.ขนาดใหญ่ และการเคลื่อนย้ายคนไข้ เพราะพื้นอยู่ห่างไกล ส่งต่อจาก รพ.บึงกาฬ ไปรักษาต่อในพื้นที่ จ.สกลนคร อุดรธานี นครพนม และขอนแก่น
นพ.ภมร บอกว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีนโยบายให้ปรับปรุงบ้านพักแพทย์ ให้ดีขึ้นแล้ว เช่นเดียวกับการจ่ายค่า ตอบแทน หรือโอที โดยจ่ายตรงเวลา ไม่มีปัญหาค้างจ่าย ในอนาคต รพ.บึงกาฬ และ รพ.เซกา จะขยายเป็น รพ.ขนาดใหญ่ ความต้องการแพทย์เฉพาะทางจึงเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งแพทย์ศัลยกรรมประสาท แพทย์อายุรกรรมโรคหัวใจ เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคซับซ้อน
“หากต้องการเพิ่มแรงจูงใจให้แพทย์อยู่ต่อ ต้องเพิ่มศักยภาพให้ รพ.บึงกาฬ ให้เป็น รพ.ขนาดใหญ่ มีงบประมาณสนับสนุน โดยเฉพาะการกำหนดอัตราค่าตอบ แทนแพทย์เฉพาะทางประจำโรงพยาบาลให้แตกต่างจาก รพ.ที่มีความเจริญแล้วเช่นกัน”
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า นอกจากขาดแคลนแพทย์ โรงพยาบาลหลายแห่ง ยังขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพ ที่มีอยู่ส่วนใหญ่ที่มีเป็นพยาบาลรุ่นพี่ อายุมากใกล้เกษียณ จึงอยากเสริมให้มีพยาบาลรุ่นใหม่ เพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น
นพ.ภมร ย้ำว่า หากสามารถแก้ไขปัญหาการส่งต่อคนไข้ง่ายขึ้นอย่างไร้รอยต่อ ก็จะทำให้การบริหารงานเร็วขึ้น ซึ่งต้องหารือในระดับเขต และระดับประเทศ หรือส่วนกลาง เพราะที่ผ่านมาในระดับจังหวัดได้ความพยายามพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะ รพ.ที่ห่างไกล หรือห่างสนามบิน
ปัญหาคือ ทำอย่างไรจะให้แพทย์ได้รับค่าตอบแทนมากพอเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ทำงานอยู่กับระบบ และไม่ต้องลาออก จนเกิดปัญหาเช่นปัจจุบัน
อ่านข่าว :