ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

59 ปีแห่งการจากไป จอมพลกระดูกเหล็ก "ป. พิบูลสงคราม"

ไลฟ์สไตล์
11 มิ.ย. 66
13:51
4,286
Logo Thai PBS
59 ปีแห่งการจากไป จอมพลกระดูกเหล็ก "ป. พิบูลสงคราม"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
11 มิ.ย.2507 บ้านพักหลังเล็กๆ ที่ญี่ปุ่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้ถึงแก่อสัญกรรม ต่อมามีบันทึกถึงที่มาสมญานาม "จอมพลกระดูกเหล็ก" ของจอมพล ป. เพราะเคยรอดตายจากการลอบสังหาร ถึง 3 ครั้ง ในช่วง 4 ปี

ที่มาของสมญานาม "จอมพลกระดูกเหล็ก" ของจอมพล ป.พิบูลสงครามนั้น ได้รับการบอกเล่าผ่านบันทึกในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยา ณ เมรุวัดธาตุทอง 14 ส.ค.2527 โดย พล.ต.อนันต์ พิบูลสงคราม บุตรชายของ จอมพล ป. เป็นผู้ให้รายละเอียดถึงเหตุการณ์ลอบสังหาร 3 ครั้ง ในช่วง พ.ศ.2477-2481 คือลอบยิง 2 ครั้ง และวางยาพิษ 1 ครั้ง

23 ก.พ.2477 : การลอบยิงครั้งที่ 1

ในการแข่งขันฟุตบอลคู่ชิงชนะเลิศระหว่างเหล่าทหารในวันที่ 23 ก.พ.2477 ที่ทุ่งพระเมรุท้องสนามหลวง ผู้ที่ชนะจะได้รับถ้วยเกียรติยศจาก พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม รมว.กลาโหม (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ในงานมีผู้คนเข้าชมการแข่งขันอย่างล้นหลาม จนกระทั่งการแข่งขันเสร็จสิ้น พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม คล้องพวงมาลัยให้แก่ผู้เล่น และมอบถ้วยรางวัลชนะเลิศให้ทีมที่ชนะการแข่งขัน เป็นอันสิ้นสุดพิธีการ จากนั้น พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม จึงเดินทางกลับไปยังรถประจำตำแหน่งที่จอดรอ พร้อมกับนายทหารคนสนิท 2 คน พ.ต.หลวงสุนาวิน วิวัฒน์ และ ร.อ. ทวน วิชัยขัทคะ 

ขณะที่ พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม ขึ้นนั่งบนรถยนต์ ทันใดนั้นมีเสียงปืนดังขึ้น 2 นัด พ.ต.หลวงสุนาวิน วิวัฒน์ เห็นชายคนหนึ่งในระยะประชิด และถือปืนเล็งไปที่ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม ด้วยความรวดเร็ว พ.ต.หลวงสุนาวิน กระโดดเข้าปัดปืนออกจากชายผู้ก่อเหตุ จังหวะเดียวกันกับที่ ทหารอีกหลายนายได้เข้ารวบตัวไว้

ด้าน ร.อ.ทวน วิชัยขัทคะ รีบประคองร่างของ รมว.กลาโหม ที่อยู่ในสภาพเลือดสีแดงเข้มไหลทะลักที่บริเวณต้นคอ พร้อมรีบนำตัวส่ง รพ.พญาไทในขณะนั้น หรือ ในปัจจุบันนี้คือ รพ.มงกุฎเกล้า พ.ท.หลวงศัลยเวชวิศิษฐ นายแพทย์ใหญ่ พร้อมผู้ช่วยแพทย์และทีมพยาบาล พร้อมเข้าช่วยเหลือทันที ในจังหวะเดียวกันที่ พ.ท.หลวงกาจสงคราม รุดมาอำนวยการวางทหารยามตามจุดทางเข้าออกทุกแห่งด้วยตนเอง เพื่อรักษาความปลอดภัยให้ท่านรัฐมนตรีที่ถูกลอบยิงจนบาดเจ็บสาหัส 

ผลการตรวจบาดแผลพบว่า พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม ถูกกระสุนปืน 2 แห่ง กระสุนลูกแรกเข้าทางแก้มซ้ายด้านหน้าทะลุออกทางด้านหลังของต้นคอ วิถีกระสุนไม่ถูกอวัยวะส่วนสำคัญ อีกลูกเข้าทางด้านหน้าไหล่ขวาทะลุออกด้านหลัง พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม ต้องนอนรักษาแผลอยู่โรงพยาบาลนานถึง 1 เดือน เมื่อพ้นขีดอันตรายแล้ว ท่านก็ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านพักในกรมทหารปืนใหญ่ บางซื่อ

9 พ.ย.2481 : การลอบยิงครั้งที่ 2 

ช่วง 19.00 น. ของวันที่ 9 พ.ย.2481 ในขณะที่ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม และภริยา กำลังแต่งตัวกันอยู่ที่ชั้น 2 ของบ้านพักในกรมทหารปืนใหญ่ บางซื่อ เพื่อไปร่วมงานเลี้ยงส่ง พ.อ.หม่อมสนิทวงศ์เสนีย์ และ ภริยา ไปเป็นทูตทหารประจำประเทศฝรั่งเศส จู่ๆ ก็มีเสียงปืนลั่นขึ้น 1 นัดจากห้องแต่งตัวของหลวงพิบูลยสงคราม พร้อมกับเสียงตะโกนขึ้นว่า "ตาลี ยิง!"

เมื่อสิ้นสุดเสียงตะโกน ร.ต.ผล สมงาม นายทหารติดตาม รีบวิ่งขึ้นไปชั้นบน พร้อมได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอีก 1 นัด และเห็นพ.อ.หลวงพิบูลสงคราม วิ่งออกมาจากห้องแต่งตัว และตามมาด้วย "นายลี" ที่พยายามวิ่งไล่ยิง พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม อีก จนกระสุนกระเด็นถูกขอบกระจกโต๊ะเครื่องแป้งข้ามศีรษะท่านผู้หญิงละเอียด ภริยา ไป เมื่อ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม เจอ ร.ต.
ผล จึงรีบบอก "ตาลียิง" อีก ร.ต.ผล จึงผลักหลวงพิบูลสงครามเข้าไปอีกห้อง พร้อมกระโดดปัดมือของนายลีที่ถือปืนเล็งไปที่ หลวงพิบูลสงคราม ทำให้กระสุนลั่นอีก 1 นัด ถูกขากางเกงนายลีเอง

เหตุการณ์สงบได้เมื่อ ร.อ.เผ่า ศรียานนท์ ร.ต.เปล่ง รุจะศิริ พ.จ.ต.ทองดี จันทนะโลหิต นายทหารติดตาม ได้เข้ามาช่วยกันจับแย่งปืนจากนายลี และนำตัวมอบตัวให้ตํารวจ ส่วนปืนที่ใช้ก่อเหตุ พบว่าเป็นปืนประจำกายของ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม ที่เก็บไว้ในรถประจำตำแหน่งเอง 

แม้จะเกิดเหตุวุ่นวาย แต่ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม และ ท่านผู้หญิงละเอียด ภริยา ก็ยังไปงานเลี้ยงตามปกติ เสมือนไม่มีเหตุกรณ์ร้ายเกิดขึ้่น และบรรดาแขกเหรื่อในงานก็ไม่มีผู้ใดทราบถึงเหตุการณ์นี้ จนกระทั่งเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ในวันต่อมา 

9 ธ.ค.2481 : ถูกลอบวางยาพิษ

ในวงอาหารกลางวันที่จัดขึ้นในบ้านพักในกรมทหารปืนใหญ่ บางซื่อ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม พร้อมกับท่านผู้หญิงละเอียด ร่วมด้วย พ.ท.หลวงยุทธศาสตร์โกศล, พ.ต.ขุนรณนภากาศ, พ.ท.หลวง เตชะเสนา, พ.ต.หลวงประหาร วิปูปราบ, ร.อ.เผ่า ศรียานนท์ และ ลูกรัชนิบูล ทันใดนั้น พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม อุทานว่า "ผมถ้าจะกินยาพิษเข้าไปแล้ว"

ทุกคนรีบพากันไปที่โรงพยาบาลทันที ท่านผู้หญิงละเอียด รีบเก็บตัวอย่างอาหารเพื่อส่งตรวจสอบ แล้วจึงรีบตามไปโรงพยาบาลสมทบกับทุกคน ต่อมาความจริงปรากฏว่าในมื้ออาหารนั้นมี "สารหนู" ซึ่งเป็นยาพิษร้ายแรงชนิดหนึ่งปนเปื้อนในอาหาร หลังจากนั้นเป็นต้นมา ท่านผู้หญิงละเอียด ต้องดูแลอาหารทุกมื้อของ พ.อ.หลวงพิบูลสงครามอย่างใกล้ชิดตั้งแต่มื้อเช้าจนถึงมื้อเย็น 

จอมพล ป.พิบูลสงคราม ถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 66 ปี ท่านลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศญี่ปุ่น หลังจากถูก พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายทหารรุ่นน้องอีกคนหนึ่งที่ท่านไว้ใจและมอบตำแหน่ง ผบ.ทบ.ให้ กระทำการรัฐประหาร ในวันที่ 16 ก.ย.2500 หาก จอมพล ป. ยังมีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้ ท่านจะมีอายุ 125 ปี

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง