“เพาะพันธุ์ปัญญา” คือ อะไร ?
การเรียนรู้แบบ “เพาะพันธุ์ปัญญา” เป็นการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นไปที่ตัวผู้เรียน ผ่านการทำโครงงานฐานวิจัย โดยผู้สอนเปลี่ยนบทบาทจาก คนสอนหนังสือ เป็น โค้ช จัดการเรียนรู้ด้วย 3 หลักการสำคัญ ได้แก่ ถามคือสอน สะท้อนคิดคือเรียน และเขียนคือคิด
กระบวนการสอนแบบ “เพาะพันธุ์ปัญญา” ถูกนำไปสอนในหลายโรงเรียนทั่วประเทศ ทั้งสอดแทรกในวิชาหลัก และเป็นวิชาเลือกเสรี โดยเฉพาะ จ.น่าน ที่มีการสร้างครูเพาะพันธุ์ปัญญาแล้วกว่า 130 คน และมีนักเรียนที่เรียนหลักสูตรนี้ มาแล้วหลายรุ่น ซึ่งเด็กที่ผ่านการเรียนรู้แบบเพาะพันธุ์ปัญญา จะมีวิธีคิดเป็นระบบ
จากการเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา สู่การปั้นนักธุรกิจรุ่นจิ๋ว
การกล้าคิด กล้าลงมือทำ และกล้าแสดงออกของเด็กเพาะพันธุ์ปัญญา เป็นที่มาของการสร้างแคมป์เพาะพันธุ์ปัญญา ส่งเสริมให้เด็กที่ผ่านการเรียนรูปแบบนี้ นำกระบวนการคิด จัดทำธุรกิจจำลอง สร้างผลิตภัณฑ์จากการดึงทรัพยากรในท้องถิ่น แปรรูปเป็นสินค้า และนำไปจำหน่ายจริง
การจัดแคมป์ในครั้งนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค.2566 เปิดโอกาสให้นักเรียนชั้น ม.4 - ม.5 ที่เคยผ่านห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา จากโรงเรียนในเมืองและพื้นที่ห่างไกลใน จ.น่าน 8 โรงเรียน เข้าร่วมกิจกรรม เด็ก ๆ แต่ละโรงเรียนจะมีการจำลองจัดตั้งบริษัท คิดค้นผลิตภัณฑ์ เพื่อนำมาผลิตจริง และจัดจำหน่าย หลังจากนั้น นำผลจากการดำเนินการมาสรุปผลความสำเร็จ ซึ่งก็มีทั้งกลุ่มที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ
น.ส.ปรียาณัฐ ชัยภาคย์พิบูล ตัวแทนนักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 เปิดเผยว่า การเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาทำให้ตนเองมองโลกกว้างขึ้นกว่าเดิม และกล้าที่จะตั้งคำถาม และหาวิธีการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการร่วมโครงการแคมป์เพาะพันธุ์ปัญญาครั้งนี้ ตนเองก็นำกระบวนการคิดแบบเพาะพันธุ์ปัญญา ตั้งคำถามถึงความหลากหลายในชาติพันธุ์ของเด็กในโรงเรียนของตนเอง จนเป็นที่มาของการนำสิ่งแปลกใหม่ของแต่ละชาติพันธุ์มาจัดทำเป็นไส้คุกกี้
น.ส.ปรียาณัฐ ชัยภาคย์พิบูล ตัวแทนนักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56
หนูเป็นคนพูดเยอะ พอได้พูดบ่อยๆ และได้เรียนรู้การนำเสนอ ก็จัดลำดับความคิดได้มากขึ้น กล้าพูดกล้าแสดงออกมากขึ้น
มากกว่าการเรียนรู้ คือ การสร้างซอฟต์สกิล ให้กับเด็กรุ่นใหม่ในการสานต่อนำสิ่งที่มีอยู่ในบ้านเกิด สร้างเป็นธุรกิจ และมีรายได้เลี้ยงตนเอง การสร้างพื้นฐานที่ไม่มีในห้องเรียนเหล่านี้ นอกจากเด็กจะได้ความรู้ แต่พวกเขายังได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติและแก้ไขปัญหาได้จริง ๆ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่จะติดตัวพวกเขาไปในอนาคต
กันตพงศ์ หมั่นดี ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม
เขาได้พูดในสิ่งที่เขาทำ เขาได้สะท้อนในสิ่งที่เขาเรียนรู้ อันนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างเยอะเลย แค่เด็กในโรงเรียนตัวเอง เห็นเขากล้าพูด กล้าคิด เสนอแนวทางแก้ปัญหา เราก็ภูมิใจแล้ว อันนี้ คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นนอกห้องเรียน