วันนี้ (14 มิ.ย.2566) ภาพรวมสถานการณ์น้ำในขณะนี้เขื่อนหลายแห่งมีปริมาณน้ำใช้การได้ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤต พื้นที่ที่น่าห่วงที่สุดคือ ด้านตะวันตก เพราะมีน้ำใช้การได้จริงเพียงร้อยละ 13 รองลงมา คือ ภาคกลาง ร้อยละ 19 ภาคเหนือ และภาคอีสาน ร้อยละ 20 และ 23 ตามลำดับ
ขณะที่สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อน หลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตติ์ เขื่อนป่าสัก และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน พบว่ามีน้ำใช้การได้รวมกันเพียง 4,551 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 18
หลังจากนี้สิ่งที่ต้องจับตาคือ หลังสิ้นสุดฤดูฝนจะมีน้ำเพียงพอหรือไม่ เพราะอย่างลุ่มน้ำเจ้าพระยามีความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้งและต้นฤดูฝน 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แตขณะนี้มีน้ำใช้การได้เพียง 4,551 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ยังขาดอีก 7,449 ล้านลูกบาศก์เมตร กับเวลาที่เหลืออีกประมาณ 140 วัน จะสิ้นสุดฤดูฝนแล้ว
อ่านข่าว เช็กสัญญาณแล้ง 4 เขื่อนใหญ่ "ป่าสักชลสิทธิ์" น้ำเหลือแค่ 15%
ระดมเครื่องจักรขุดลอกกว๊านพะเยา
แม้ขณะนี้จะเริ่มมีฝนตกลงมาบ้างแล้ว แต่หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ และ ภาคอีสาน ยังประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องระดมกำลังเข้าช่วยเหลือ
สถานการณ์น้ำบริเวณกว๊านพะเยา ยังคงมีปริมาณน้อยมาก รวมทั้งน้ำจากบริเวณโดยรอบไหลลงสู่กว๊านพะเยาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงเพิ่มปริมาณน้ำได้ไม่มากนัก
ขณะที่กรมชลประทานโดยสำนักเครื่องจักรกลที่ 1 จ.เชียงใหม่ ระดมเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าทำการขุดลอกกว๊านพะเยา เพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำหลังเกิดตะกอนตื้นเขิน แม้จะมีปริมาณฝนตกลงมาในพื้นที่บ้าง ขณะนี้กว๊านพะเยา มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 4.5 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุ 55.650 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 8.05 ของความจุ
ฝนทิ้งช่วงกระทบทุเรียนอุตรดิถต์
ขณะที่ฝนที่ทิ้งช่วงและอากาศที่ร้อนเริ่มส่งผลกระทบกับกลุ่มชาวสวน ในพื้นที่ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ เพราะทั้งทุเรียน ลางสาด และลองกอง ผลผลิตออกไม่เต็มที่เพราะต้นไม้เริ่มขาดน้ำ และบางส่วนมีหนอนเจาะเริ่มเหี่ยวแห้งตาย
อ่านข่าว รับมือฝนทิ้งช่วง 1 เดือน 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยาน้ำเหลือ 45%
เร่งสำรวจแหล่งน้ำรับมือภัยแล้ง
ขณะที่ เจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง สำนักงานชลประทานที่ 5 ต.โคกสะอาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ลงสำรวจพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง เพื่อรองรับประมาณน้ำฝนที่กำลังจะตกในช่วงนี้ รวมทั้งเตรียมบริหารจัดการน้ำเนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยกว่าการคาดการณ์
ขณะที่ภาพรวมอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ฝายกุมภวาปี อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 17 แห่ง ที่ความจุอ่างรวม 354.23 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำในปี 2565 ปริมาณน้ำปัจจุบันมีน้อยกว่า ปี 2565 จำนวน 5.70 ล้านลูกบาศก์เมตร การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ จ.อุดรธานี ได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งเร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกชนิด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
CAT ประเมินไทยติดกลุ่มแย่ ทำอุณหภูมิโลกสูง 4 องศาฯ
“สัตว์ สลัดป่า” Climate change สะเทือนทุกชีวิต
โลกร้อน “ลานีญา” สลับขั้ว "เอลนีโญ"ไทยเผชิญฝนน้อย-แล้งยาว 19 เดือน